ข่าว

เปิดมติ ก.อ. สั่งสอบวินัยร้ายแรง "เนตร นาคสุข" สั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา

เปิดมติ ก.อ. สั่งสอบวินัยร้ายแรง "เนตร นาคสุข" สั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา

23 ก.ย. 2564

เปิดเหตุผลมติ ก.อ. สั่งสอบวินัยร้ายแรง ”เนตร นาคสุข" อดีตรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา ชี้ชัดคดีไม่ชอบมาพากล เกิดความเสียหายต่อองค์กรและกระบวนการยุติธรรม เสื่อมเสียย่อยยับพังทลาย

 

 

กรณีที่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมาคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) 9 เสียงมีมติเห็นควรสอบสวนวินัยร้ายเเรง "เนตร นาคสุข" กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนคนตายจากคณะกรรมการชุด นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัย

 

 

มีความเห็นเสนอที่ประชุมว่า "นายเนตร นาคสุข" อดีตรองอัยการสูงสุดผิดวินัยไม่ร้ายแรง เนื่องจากไม่พบการทุจริต แต่เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นควรงดบำเหน็จหรือไม่เลื่อนขั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี และไม่เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโส

 

 

ทั้งนี้ก่อนการลงมติที่เป็นเสียงเอกฉันท์ให้สอบวินัยร้ายเเรงได้มีกรรมการ ก.อ.อย่างน้อย 3 คนอภิปรายถึงเหตุผลถึงเหตุที่ควรตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง "นายเนตร" โดยรายละเอียดการอภิปรายมีประเด็นดังนี้

 

 

ได้มีการตั้งคำถามว่าข้อพิจารณาเรื่องการมอบอำนาจให้ "นายเนตร"ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ดังนั้น "นายเนตร" จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมและมีอำนาจพิจารณาสั่งคดีของสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาสั่งสำนวนของ"นายเนตร นาคสุข" เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีความผิดทางวินัยเพียงใด

 

 

เเละประเด็นรายงานการสอบข้อเท็จจริงชุดของนายวิชา มหาคุณมีการระบุว่าพนักงานอัยการไม่ทราบชื่อและอัยการสูงสุดได้เข้าไปเกี่ยวข้องพยานหลักฐานในส่วนนี้คืออะไร ได้มีการสอบถามราย
ละเอียดเพิ่มเติมไปยังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนายวิชาฯ แล้วหรือไม่ การไม่รับฟังรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ควรกระทำด้วยความรอบคอบ

 

 

 

 

ซึ่งทางผู้อภิปรายเห็นว่าเนื่องจากไม่เคยมีระเบียบหรือหนังสือเวียนที่เป็นการกำหนดการดำเนินการสั่งคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมไว้อย่างชัดแจ้งมีเพียงระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 ข้อ 48 ก็กำหนดเพียงวิธีการสั่งคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมเมื่อมีพิจารณาคำร้องร้องขอความเป็นธรรมพนักงานอัยการก็จะสั่ง  

 

 

1.สอบสวนเพิ่มเติมหรือ 2. สั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมกรณีที่เห็นว่ามีเหตุอันควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรมก็ดำเนินการไป 

 

 

แต่กรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าเป็นการร้องขอความเป็นธรรมซ้ำซ้อนในประเด็นเดิมที่ได้เคยมีการพิจารณาไปแล้วหรือปราศจากพยานหลักฐานใหม่ก็จะพิจารณาว่าการร้องขอความเป็นธรรมลักษณะนี้เป็นไปเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้าพนักงานอัยการก็จะสั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม

 

 

เมื่อมาพิจารณาการดำเนินการของ "นายเนตร" ในการสั่งสำนวน ส.1 ซึ่งเป็นการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาถึง 14 ครั้ง อัยการสูงสุดถึง 2 คนได้สั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมไปแล้วพยานหลักฐานที่ร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 14 ก็เป็นพยานหลักฐานเดิมที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวน และพยานปากพล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

 

 

การที่ "นายเนตร" เลือกรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นความเร็วของรถยนต์จากคำให้การของพยานทั้งสองปากทั้ง ๆ ที่ยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นความเร็วรถโดยไม่สอบสวนเพิ่มเติมให้ได้ข้อยุติชัดเจน

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นดังกล่าวอัยการสูงสุดถึง 2 คนได้เคยพิจารณาเป็นที่ยุติไปแล้วและพนักงานอัยการตามลำดับชั้นก็พิจารณาเห็นพ้องกันตลอดสายให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรม แต่นายเนตร กลับเลือกรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวพร้อมทั้งกลับคำสั่งเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 

 

 

 

 

กรณีเป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจขัดต่อ พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ที่ระบุว่าพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วเที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง การสั่งคดีของ "นายเนตร" จึงเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 64 

 

 

เเละกรณีดังกล่าวถือเป็นประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพรบ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85 

 

 

เห็นควรตั้งเป็นข้อสังเกตว่าการพิจารณาการใช้ดุลพินิจของ "นายเนตร" ในครั้งนี้ไม่ควรถูกหยิบยกมาอ้างอิงความเป็นอิสระในการสั่งคดีของพนักงานอัยการโดยทั่วไปเพื่อเป็นหลักประกันความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรม ความมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีจะต้องอยู่ในกรอบของความเที่ยงธรรมด้วยมิฉะนั้นจะข้ามเส้นแบ่งกลายเป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ

 

 

สำนวนของสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยากล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็น Exceptional Case  ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลนับครั้งไม่ถ้วนนับ แต่เริ่มกระบวนการสอบสวนมีความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหามาโดยตลอดแม้จะถูกเฝ้ามอง

 

 

และเป็นที่จับตาของสังคมเป็นอย่างมากก็ยังมีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาถึง 14 ครั้งอัยการสูงสุดถึง 2 คนได้สั่งยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมไปแล้วก็ยังมีความพยายามใช้ดุลยพินิจรับฟังพยานและพิจารณาสำนวนที่ข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้นกระแสความ ไม่พิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบทั้ง ๆ ที่"นายเนตร" เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการดำเนินคดีอาญาย่อมต้องทราบดีว่าพยานหลักฐานที่เลือกรับฟังมีความน่าสงสัยเป็นอย่างมาก

 

 

แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานที่ชัดเจนว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ในทางมิชอบหรือกระทำโดยทุจริตก็เป็นเพราะไม่มีอำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงินและปราศจากผู้กล่าวหา แต่ได้ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงต่อการใช้ดุลพินิจดังกล่าวต่อสังคมเป็นวงกว้างกระทบถึงองค์กรอัยการและกระบวนการยุติธรรมเสียหาย

 

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต แปลว่า เสื่อมเสียย่อยยับพังทลายความเสียหายเป็นคำนามไม่มีบทนิยามในทางกฎหมายแพ่งหรืออาญาเพราะมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วในทางกฎหมายวางหลักเพียงว่าความเสียหายเป็นตัวเงินและความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอันเป็นมูลฐานในการคำนวณค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

 

 

แม้ต่อมาคดีนี้จะได้มีการสั่งฟ้องนายนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในฐานความผิดดังกล่าวข้างต้นและมีการออกหมายจับผู้ต้องหาที่1 แล้วก็ตาม

 

 

แต่หากคดีนี้ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ที่ประชาชนทั้งประเทศติดตามและให้ความสนใจก็คงไม่มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคดีดังกล่าวจนกระทั่งมีการกลับคำสั่งไม่ฟ้องของ "นายเนตร" เป็นคำสั่งฟ้องและออกหมายจับผู้ต้องหาแต่อย่างใด

 

 

ดังนี้ย่อมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าการสั่งไม่ฟ้องของ "นายเนตร" เป็นการเสียหายแก่ทางราชการอย่างยิ่งและทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหายอย่างร้ายแรงเสื่อมศรัทธาต่อประชาชนทั่วทั้งประเทศ

 

 

ดังนั้นการที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความเห็นว่าการกระทำของ "นายเนตรฯ" เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงจึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

 

หลังจากนั้น นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน ก.อ.ก็ให้มีการลงมติเปิดเผยโดยการยกมือ ผลปรากฎเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง เเละตั้งนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง