ส่อง "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลฯ" มุ่งวิจัยข้าว ชงรับรองพันธุ์ข้าวแล้ว 6 พันธุ์
ส่อง "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลฯ" มุ่งเน้นการวิจัยด้านข้าว เสนอรับรองพันธุ์ข้าวแล้ว 6 พันธุ์ พร้อมส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพ มาตรฐานให้แก่ชาวนามืออาชีพ
นายอนุชาติ คชสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กล่าวว่า "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" มีหน้าที่รับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาข้าวโดยเน้นหนักข้าวนาสวนนาน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีพื้นที่รับผิดชอบตามนโยบาย 2 จังหวัด คือ จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดอำนาจเจริญ มีบทบาทภารกิจหลัก
ประกอบด้วยวิจัยและพัฒนาข้าวในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์และสรีรวิทยาเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ดีผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดพันธุ์ดี ต้านทานโรคแมลง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ปรับตัวได้ดีในสภาพนาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการค้นหาตำแหน่งยีนโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิคสมัยใหม่ พัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการตรวจสอบการปลอมปนของพันธุ์ข้าว การใช้อนุพันธุศาสตร์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ต้านทานต่อโรคแมลงและศัตรูข้าวและทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ศึกษาวิจัยและพัฒนาวิธีการทางเขตกรรมปฐพีวิทยา
การจัดการวัชพืช รวมถึงการจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและต้นทุนการผลิต ศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวทางการควบคุมป้องกันกำจัดศัตรูพืช เน้นการจัดการศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว คุณภาพข้าว
และการแปรรูปข้าวศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตรวจสอบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ สรีรวิทยาเมล็ดพันธุ์ การรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์คัด พันธุ์หลัก เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์และมีคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์
นายอนุชาติ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ยังผลิตเมล็ดพันธุ์คัดเมล็ดพันธุ์หลักและตรวจสอบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างงานวิจัยด้านข้าวร่วมกับหน่วยงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและอบรมดำเนินงานนโยบายที่ได้รับมอบหมายเชิงพื้นที่ และนโยบายเร่งด่วนตามภารกิจของกรมการข้าวอีกด้วย
ทั้งนี้ "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" สังกัดกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มงานวิจัย ตามภารกิจ ดังนี้
1.กลุ่มปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้พัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อช่วยแก้ปัญหาของการปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นตัวแทนกลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอรับรองพันธุ์ข้าวแล้ว จำนวน 6 พันธุ์ เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง จำนวน 2 พันธุ์
ได้แก่ พันธุ์เหนียวอุบล 1 มีลักษณะดีเด่น คือ ต้านทานต่อโรคใบสีส้ม และพันธุ์เหนียวอุบล 2 ต้านทานต่อโรคไหม้ ทนแล้งและทนดินเค็มและพันธุ์ข้าวเจ้า จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สุรินทร์ 1 มีความไวต่อช่วงแสง ต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง ทนแล้งและทนดินเค็ม พันธุ์ กข33 หรือหอมอุบล 80 เป็นข้าวเจ้าหอมไม่ไวต่อช่วงแสง ที่มีความต้านทานต่อ โรคไหม้ พันธุ์ กข51 เป็นข้าวเจ้าหอมไวต่อช่วงแสง ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน และพันธุ์ กข75 เป็นข้าวเจ้าหอมไวต่อช่วงแสง อายุเบาและต้านทานต่อโรคไหม้
อย่างไรก็ตาม นอกจากข้าวทั้ง 6 พันธุ์นี้แล้ว ยังได้มุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ อีกต่อไป
รวมทั้งมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการใช้ประโยชน์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมอีกด้วย
2.กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ ใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์สมัยใหม่ วิจัยจนค้นพบยีนควบคุมลักษณะความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ยีนทนน้ำท่วมฉับพลัน ยีนควบคุมลักษณะรากข้าว พัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการตรวจสอบการปลอมปนของพันธุ์ข้าว รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต้านทานโรคไหม้ ให้มีลักษณะทรงต้นรูปลักษณ์ใหม่ด้วยการเพาะเลี้ยงอับเรณู
3.กลุ่มอารักขาข้าว เน้นเรื่องการวิจัยด้านแมลงและโรคข้าวที่สำคัญ การวิจัยทางด้านแมลง ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว แมลงบั่ว เพลี้ยไฟ ไรศัตรูข้าว และหนอนกอ
โดยมุ่งเน้นในการหาความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมลงศัตรูข้าว การจัดจำแนกชนิดแมลงศัตรูข้าวโดยใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ด การค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น
การวิจัยด้านโรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง
4. กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตข้าว ดำเนินงานวิจัยเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าว ในด้านต่างๆ โดยศึกษา วิจัยและพัฒนาวิธีการทางเขตกรรม ระบบการปลูกพืชในนาข้าว การจัดการปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ การจัดการวัชพืช การจัดการน้ำ
รวมถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จนได้คำแนะนำสำหรับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชและก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับงานวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และ 5. กลุ่มวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ดำเนินงานวิจัยเพื่อลดการสูญเสียด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าว จนได้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการ เพื่อรักษาคุณภาพและความหอม ให้ตรงตามมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย
ที่สำคัญยังเป็นห้องปฏิบัติการหลัก ในการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดและความหอมของข้าว จะเห็นได้ว่าการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวในกลุ่มงานต่างๆ ของบุคลากรที่มีคุณภาพของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี จะสามารถช่วยยกระดับผลผลิตและคุณภาพข้าวของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐานตรงตามพันธุ์
และตรงตามความต้องการของชาวนาอย่างทั่วถึง ส่งผลให้เกษตรกรนาแปลงใหญ่และเกษตรกรที่อยู่ในความดูแล ปลูกข้าวสร้างรายได้ที่มั่นคง มีตลาดรองรับ ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำนา