ติงขึ้นเงินเดือนท้องที่กระทบกำลังใจท้องถิ่น
กระทบกำลังใจท้องถิ่น เร่งภาครัฐแก้ "ระเบียบการเงิน" ช่วยผู้ว่างงาน
แม้รัฐบาลจะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างด้วยการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ พร้อมจัดหาโครงการฝึกอาชีพให้
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อปท.ยังติดขัดปัญหา "ข้อกฎหมาย" จึงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงานได้อย่างเต็มที่
นายชวลิต วิเศษสิทธิกุล ประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดอ่างทอง และนายกเทศบาลตำบลบางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง กล่าวถึงอุปสรรคในข้อนี้ว่า โครงการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงมหาดไทยสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอแนะ อีกทั้งยังเน้นให้ถือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม ถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อปท.ช่วยเหลือผู้ว่างงานไม่ได้เต็มที่ เพราะอาจขัดต่อข้อกฎหมาย และถูกตรวจสอบย้อนหลังได้
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงขอให้กระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลออกระเบียบให้ อปท.สามารถนำเงินงบประมาณไปดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างงาน ผู้ว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ เพื่อจะได้ตอบสนองนโยบายรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ผิดกฎหมายด้วย
นอกจากนี้ยังฝากให้รัฐบาลทบทวนประเด็นการ "เพิ่มเงินเดือน" ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำให้ส่วนท้องถิ่นเกิดความรู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำกันในประเด็นต่อไปนี้ คือ
1.การเพิ่มเงินเดือนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อีกเท่าตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับผู้บริหาร และสมาชิก อปท. ว่าเงินเดือน ค่าตอบแทน อายุการดำรงตำแหน่ง ผลการรับถ่ายโอนงานต่างๆ จากกระทรวง ทบวง กรม มารับผิดชอบ
รัฐบาลต้องพิจารณาเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายกับผลตอบแทนที่ได้รับว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่เมื่อเทียบกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
2.การให้คงตำแหน่ง "ผู้ใหญ่บ้าน" ไว้ในเขต "เทศบาลเมือง" และ "เทศบาลนคร" ทางสันนิบาตเทศบาลไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่มีความจำเป็น และไม่ควรกำหนดให้มีตามเดิม เพราะเทศบาลมีความพร้อมเสมือนกระทรวงหนึ่งอยู่แล้ว
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคงตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันสมาชิก อปท.ลาออกเพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านจำนวนมาก เพราะงานรับผิดชอบน้อย เงินเดือนสูง แถมยังอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปีอีกด้วย
นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในทางกฎหมาย และในทางปกครองที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนทำงานในส่วนท้องถิ่นที่สะท้อนให้ภาครัฐนำไปพิจารณาว่า การเทน้ำหนักไปในทางใดทางหนึ่งมากเกินไปก็อาจทำให้ฝ่ายที่ไม่ได้รับประโยชน์เกิดความรู้สึกในเชิงลบได้เช่นกัน
"เสถียร ธีฆัมพร"