"ศูนย์วิจัยข้าวอุบลฯ" สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร
"ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ผลิตข้าวอินทรีย์มีคุณภาพมาตรฐาน ตลาดแน่น สร้างรายได้ที่มั่นคงสู่เกษตรกรสมาชิก
นายประมวล ขันเพชร ประธานวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ คนในชุมชนบ้านโนนค้อทุ่ง อาชีพหลักคือการทำนาแบบใช้สารเคมีมาแต่เดิม เกษตรกรทำนาทุกปีขาดทุนทุกปี จึงมีแนวคิดที่จะพึ่งพาตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และรวมตัวกันเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์
จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 ได้รวมกลุ่มกันโดยการฝึกอบรมสัจธรรมชีวิต เพื่อเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด เพื่อใช้ทดแทนสารเคมี และแจกจ่ายกันไปใช้ในพื้นที่นาของตนเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
จากเดิมมีสมาชิกเพียง 10 ราย ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อจำหน่าย แต่ตลาดข้าวของกลุ่มก็ยังคงเป็นตลาดที่ขายร่วมกับข้าวที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีแรก ทางกลุ่มประสบปัญหาเรื่องการตลาด เพราะข้าวเปลือกของกลุ่มยังไม่ได้รับรองมาตรฐานการผลิต
และยังขาดตลาดรองรับที่เพียงพอ
จึงคิดหาวิธีการเพื่อหาตลาดที่รับซื้อข้าวอินทรีย์โดยเฉพาะและได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 พร้อมกับได้พัฒนากระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์เข้าสู่การตรวจรับรองมาตรฐาน IFOAM มาตรฐาน EU และมาตรฐาน COR จนประสบความสำเร็จได้รับการรับรองในที่สุด
ต่อมาในปี พ.ศ.2560 ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ใช้ชื่อว่า แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อย มีสมาชิก 35 ราย พื้นที่การปลูก 725 ไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ ข้าว
หอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล และข้าว กข6
แล้วนำผลผลิตข้าวดังกล่าวมาสีแปรสภาพ บรรจุถุงสูญญากาศเพื่อจำหน่ายใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ข้าวซ้อมมือหอมมะลิแดง ข้าวกล้องเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวกล้องสามพญา ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ 105 ข้าวกล้องหอมมะลิแดง และข้าวขาวหอมมะลิ 105 โดยกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อยจะผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งระบบให้ครบวงจร
นอกจากนี้แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อยแห่งนี้ ในแต่ละปีเกษตรกรปลูกข้าวเพียงแค่ 1 รอบ โดยจะเริ่มต้นจากการประชุมกลุ่มเพื่อวางแผนการตลาด และวางแผนการผลิตให้กับสมาชิกแต่ละรายว่าสมาชิกรายไหนจะต้องปลูกข้าวพันธุ์อะไร เท่าไหร่
เพื่อให้ตรงต่อปริมาณและความต้องการของตลาด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของ "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" คอยลงพื้นที่เพื่อดูแลและตรวจสอบแปลงของสมาชิกแต่ละรายเป็นประจำ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการสีแปรสภาพเพื่อการจำหน่าย
สำหรับกระบวนการสีแปรสภาพข้าวในแต่ละเดือนที่ต้องสีข้าวส่งลูกค้าตามออเดอร์สั่งซื้อ สมาชิกจะร่วมมือกัน สีข้าว คัดข้าว บรรจุข้าว ซึ่งทางกลุ่มมีความพร้อมทั้งกำลังคนและเครื่องมือในการทำงาน
ประกอบกับทางกลุ่มมีตลาดรองรับที่แน่นอน ผลผลิตจึงสามารถจำหน่ายไปยัง บริษัททีวีบูรพา โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ศูนย์การประชุมไบเทค รร.ในเครือของสามพรานและร้านอาหาร Sizzler สร้างรายได้ต่อปีกว่า 4 ล้านบาท
ด้านนายอนุชาติ คชสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กล่าวว่า "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" เข้ามาดูแลกลุ่มเกษตรกร โดยได้ดำเนินการตามโครงการนาแปลงใหญ่ โดยให้ความรู้และเทคนิควิธีการผลิตข้าว
รวมถึงการสนับสนุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงให้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ให้กับเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ แห่งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
และทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง มีความเข้มแข็ง ใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตข้าว เป็นกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า สามารถที่จะผลิต แปรูปข้าวจำหน่าย สามารถที่จะหาตลาดได้เอง เป็นจุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่งเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ "ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี" จะคอยเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริมด้านเมล็ดพันธุ์และองค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาด้านคุณภาพ สู่การขยายตลาดต่อไปในอนาคต
สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพทำนา ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เผื่อแผ่ให้คนรอบข้างได้บริโภคข้าวอินทรีย์ที่มีคุณค่า รวมไปถึงการรักษาสืบทอดประเพณีการปลูกข้าวของคนในท้องถิ่นให้กับลูกหลานสืบต่อไปอีกด้วย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง