ฝนถล่ม "อ่างทอง" น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ เทศบาลเร่งระบายน้ำตลอดคืน
ฝนกระหน่ำ "อ่างทอง" น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ เทศบาลเมืองระดมเจ้าหน้าที่ และเครื่องสูบน้ำ 30 ตัว เร่งระบายน้ำตลอดทั้งคืน จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
จากกรณี "เขื่อนเจ้าพระยา" ได้ประกาศระบายน้ำ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) พร้อมกับแจ้งเตือนพื้นที่ 4 จังหวัดท้ายน้ำ ได้แก่ ชัยนาท , สิงห์บุรี , อ่างทอง , พระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย โดย 4 จังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา , จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง และวัดเสือข้าม ตำบลประศุก วัดสิงห์ ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี , จังหวัด "อ่างทอง" คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
ล่าสุดในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัด "อ่างทอง" ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เทศบาลเมืองอ่างทอง ต้องระดมเจ้าหน้าที่ และเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่เป็นการด่วน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเตือนใจ ทรงไตร นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงวันที่ 25ก.ย. ต่อเนื่องจนกระทั่งถึงช่วงเย็นและค่ำนั้น ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเศรษฐกิจ "อ่างทอง" เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งตนได้ออกตรวจสอบ และระดมเจ้าหน้าที่เทศบาล เร่งระบายน้ำอย่างเร่วด่วนในช่วงคืนที่ผ่านมา
"เมื่อคืนนี้ ได้ใช้เครื่องสูบน้ำ กว่า 30 เครื่อง เร่งระบายน้ำตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา จนสามารถดำเนินการ ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในช่วงเวลา 03.00 น. ทั้งนี้ หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา ได้ระบายน้ำ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ทางผู้ว่าราชการจังหวัด"อ่างทอง" จึงได้สั่งการให้เตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน ล่าสุดได้มีการทำแนวป้องกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณที่เป็นจุดล่อแหลมแล้ว " นายกเทศมนตรี เทศบาลเมือง "อ่างทอง" กล่าว
นายเตือนใจ กล่าวอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น มาจากภาวะฝนหนักตลอดทั้งวัน จนทำให้มีน้ำท่วมในหลายจุด โดยน้ำได้เริ่มท่วมตั้งแต่ช่วงค่ำ และขยายวงเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทางเทศบาล"อ่างทอง" ได้เร่งระบายน้ำตลอดทั้งคืน จนเป็นผลสำเร็จ ส่วนกรณีที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการประกาศระบายน้ำมากถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที)
ปัญหานี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งให้จับตาและเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ยังจะมีพายุฝนเข้ามาอีก ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการวางแผน และเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องเครื่องสูบน้ำ และพื้นที่เสี่ยงเอาไว้หมดแล้ว โดยตั้งแต่ช่วงเช้าท่่ผ่านมา ได้มีการตรวจแนวป้องกันน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งดำเนินการอุดท่อน้ำ เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทะลักเข้าสู่ตัวเมือง "อ่างทอง"
โดยขณะนี้ทางเทศบาล "อ่างทอง" ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเอาไว้ทั้งหมดแล้วกว่า 30 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบายน้ำที่ขังได้อย่างเป็นระบบ ฉะนั้น ในส่วนนี้จะต้องมีการพิจารณา และวางแผนเตรียมความพร้อมในปีถัดไปด้วย เพื่อจัดเตรียมงบประมาณในเรื่องของน้ำท่วม