สทนช.หนุนเสนอแผนแก้น้ำท่วม "เมืองทุ่งสง" ผ่านคณะอนุฯน้ำเมืองนครศรีฯ
สทนช.เร่งบูรณาการทุกหน่วยงานแก้ปัญหาท่วมซ้ำซาก "ทุ่งสง" จ.นครศรีธรรมราช หนุนเสนอแผนงานโครงการแก้ท่วมระยะยาวผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมเกาะติดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ปี 65-66 รวม 13 โครงการให้ได้ตามเป้า
วันที่ 26 ก.ย.64 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในจ.นครศรีธรรมราช และหารือร่วมกับนายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ถึงความพร้อมรับน้ำหลากในพื้นที่ ซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปี โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยเฉพาะมาตรการที่ 5 การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
ซึ่งปัจจุบันภาพรวมมีความก้าวหน้าแล้ว 93% มาตรการที่ 7 การเตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือมาประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและมาตรการที่10 คือการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
โดยเฉพาะการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์คาดการณ์สภาพอากาศ แนวโน้มฝน จัดจราจรเส้นทางน้ำต่าง ๆ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่หากจะมีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำต้องมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมอพยพขนย้ายสิ่งของได้ทันเวลา เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังได้เร่งรัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่บริเวณตัวเมือง "ทุ่งสง" จ.นครศรีธรรมราช โดยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติ และอาคารตามลําน้ำให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่บริเวณตัว "เมืองทุ่งสง" และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับรูปแบบการระบายน้ำเดิมที่มีการพัฒนาไว้แล้วให้มากที่สุด ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ "เมืองทุ่งสง"
ผันน้ำส่วนเกินไปยังลําน้ำใกล้เคียงที่มีศักยภาพการระบายน้ำสูงกว่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติและอาคารตามลําน้ำให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ
รวมถึงปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำ
ทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและน้ำแล้งได้ในระยะยาว ประกอบด้วย การขุดลอกปรับปรุงคลองธรรมชาติ 7 แห่ง ขุดลอกคลองผันน้ำ 2 แห่ง ปรับปรุงก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 10 แห่ง
ซึ่งรวมถึงโครงการปรับปรุงฝายควนกรด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดีขึ้นไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ
พื้นที่ "ทุ่งสง" มักประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่ตอนบนเป็นพื้นที่สูงชันและเป็นต้นน้ำของลำน้ำสายหลักที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าเลา คลองตม คลองท่าโหลน คลองเปิกและคลองวังหีบ เมื่อเกิดฝนตกหนักกระแสน้ำไหลแรงและเร็วมาก
นอกจากนี้การเจริญเติบโตชุมชนเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดินทำให้มีพื้นที่รับน้ำน้อยลงเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการแก้ไขปัญหาอุทกภัย "อำเภอทุ่งสง" และพัฒนาลุ่มน้ำ"อําเภอทุ่งสง"ทั้งระบบ
โดยมี 5 เป้าหมายสำคัญ1) ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ "เมืองทุ่งสง"2) ผันน้ำส่วนเกินไปยังลำน้ำใกล้เคียงที่มีศักยภาพการระบายน้ำสูงกว่า 3) ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติและอาคารตามลำน้ำให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ
4) ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งในข่วงฤดูน้ำหลากและน้ำแล้ง และ 5) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค
ทั้งนี้ หากแผนงานโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อเสนอเป็นโครงการในภาพรวมนำไปสู่การขับเคลื่อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยเร็วต่อไป ดร.สมเกียรติ กล่าว
สำหรับแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญปี 65-66 ใน จ.นครศรีธรรมราช รวม 13 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุได้ 165 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์
113,532 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 36,650 ครัวเรือน อาทิ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทุ่งสงระยะที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำท่าประดู่ และอ่างเก็บน้ำคลองแดง เป็นต้น
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง