ข่าว

กยท.เปิดประมูล "โละสต๊อกยาง" ได้มากกว่าเสีย

กยท.เปิดประมูล "โละสต๊อกยาง" ได้มากกว่าเสีย

27 ก.ย. 2564

กยท.เปิดประมูล "โละสต๊อกยาง" ได้มากกว่าเสีย เพราะหากไม่ ระบายสต๊อกยาง ราคายางในปัจจุบันอาจจะต่ำกว่านี้อย่างแน่นอนเพราะต่างชาติคิดว่า ยังมียางในสต๊อก แล้วก็จะกดราคารับซื้อยางใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงนี้

 

 

ทิศทางสถานการณ์ราคายางพาราจะเป็นอย่างไรในไตรมาสสุดท้าย หลังจากทิศทางราคายางเริ่มค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ราคายางเฉลี่ยในเดือนกันยายน 2564 

 

 

ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 52.29 บาท/กก. ยางแผ่นดิบ ราคา 50.12 บาท/กก. และน้ำยางสด ราคา 47.92 บาท/กก.   
 

 

อย่างไรก็ตามทิศทางราคายางยังไม่แน่นอนในปัจจุบัน มีการจับไปโยงกับกรณีที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)  ประมูล"ระบายสต๊อกยาง"จำนวน 104,763.35 ตัน ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยางมีแนวโน้มลดลง  และยังกล่าวหาว่ามีความไม่โปร่งใส ทำให้ประเทศชาติหาย อีกด้วย

 

 

เรื่องนี้จริงหรือไม่จะเอาหลักฐานความเป็นจริงมาพิจารณาวิเคราะห์กัน

 

 

ราคายางในเดือนเมษายน 2564 ก่อนที่จะเปิดประมูลยาง ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 62.80  บาท/กก.   ยางแผ่นดิบ ราคา 60.13 บาท/กก.  และน้ำยางสดราคา 59.52 บาท/กก.    

 


สำหรับยางที่ กยท.เปิดประมูลในล็อตดังกล่าว เป็นยางเก่าค้างสต๊อกจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เมื่อปี 2555และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เมื่อปี 2557  ที่รับซื้อเข้ามาเพื่อตัดปริมาณยางในตลาดรักษาสถานภาพราคายาง รวมกันประมาณ 278,000 ตัน

 

 

โดยในปีเดียวกันคือปี 2557ก็ได้มีการเปิดประมูลเพื่อระบายยางจำนวนดังกล่าวเป็นครั้งแรก แต่บริษัทที่ชนะการประมูลไม่ทำตามสัญญารับซื้อไปเพียงแค่ 37,602 ตัน เพราะราคายางตกลงมาอย่างมากจึงรับซื้อไม่ครบ ทำให้ยางยังคงค้างสต๊อกจำนวนมาก 

 

 

ต่อมาระหว่างปี 2559-2560 ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหากพอใจโกดังไหนที่ประมูลโกดังนั้นพ่อค้าก็เลือกยางที่คุณภาพดีไปหมดเหลือเฉพาะที่ยางเก่าคุณ ภาพไม่ดี จำนวน  104,763.35 ตัน 

 

 

กยท.เปิดประมูล \"โละสต๊อกยาง\" ได้มากกว่าเสีย

 

 

กยท.เปิดประมูล \"โละสต๊อกยาง\" ได้มากกว่าเสีย

 

 

และมีพ่อค้าบางกลุ่มนำยางในสต๊อกดังกล่าวไปอ้างว่า “ยางไม่ขาดมีในสต๊อกเป็นแสน ๆ ตัน” เพื่อกดราคารับซื้อยางจากเกษตรกร ทั้ง ๆ ที่ยางดังกล่าวเป็นยางเสื่อมสภาพ ซึ่งได้มีการตรวจสอบคุณภาพและการประเมินมูลค่า "สต๊อกยาง" แล้วจาก คณะกรรมการบริหารสต๊อกยาง บริษัทผู้ประเมินอิสระ ผู้แทนของเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กยท. แล้วว่า  “เป็นยางเสื่อมสภาพ” ที่ไม่มีสภาพพร้อมใช้ ถ้าจะใช้จะต้องนำไปฟื้นฟูปรับสภาพใหม่ ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนนี้
 

 

กยท.เปิดประมูล \"โละสต๊อกยาง\" ได้มากกว่าเสีย

 

 

นอกจากนี้การเก็บรักษายางในสต๊อกยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพารา โดยระหว่างปี 2555-2559 ใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และระหว่างปี 2559-2564 ใช้เงินไปอีก 925 ล้านบาท  เป็นการนำเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราซึ่งเป็นเงินที่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางมาใช้ 

 

 

ดังนั้นคณะกรรมการการยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีทั้งหมด 31ท่าน  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน และผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานเอกชน ผู้แทนเกษตรกรและเครือข่ายเกษตร ตลอดจนผู้ว่าการ กยท.ร่วมเป็นกรรมการ  ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ระบายยางในสต๊อกดังกล่าวให้หมดโดยเร็ว

 

 

และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ซึ่ง ครม.ก็มีมติเห็นชอบให้เร่ง "ระบายยางในสต๊อก" เพื่อลดภาระงบประมาณและรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ  โดยต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนัก

 

 

 

 

 

กยท.เปิดประมูล \"โละสต๊อกยาง\" ได้มากกว่าเสีย

 

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ให้นโยบาย กยท. ด้วยว่า ให้ดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด โดยที่พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน

 

 

และที่สำคัญต้องถูกต้องตามระเบียบ สุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยรัฐมนตรีเฉลิมชัยได้เน้นย้ำที่สุดคือ"ห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด"

 

 

คณะกรรมการ กยท. ที่มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญทางการค้า เป็นกรรมการ ได้มีมติเมื่อวันที่  8 เมษายน 2564 ให้ กยท.ดำเนินการ"ระบายสต๊อกยาง"ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 เนื่องจากเป็นฤดูปิดกรีด ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก การระบายยางในช่วงเวลานี้จะมีผลกระทบต่อตลาดน้อยหรือแทบไม่มีผลกระทบเลย  

 

 

การเปิดประมูลขายยางในสต๊อกครั้งที่ 3 จำนวน 104,763.35 ตันดังกล่าว ได้มีการกำหนดราคากลาง หลักเกณฑ์การประมูลคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญและเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กยท. ที่ได้มีการพิจารณาตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ  เหมาะสม และโปร่งใส

 

 

ทั้งนี้มีบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติตามประกาศเบื้องต้นและสามารถเข้าร่วมประมูลได้มีจำนวน 6 รายแต่มีเพียงบริษัทเดียวที่สนใจเข้ายื่นประมูล  คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามที่ระบุไว้ในประกาศทุกประการ อีกทั้งยังเสนอซื้อยางในราคาที่สูงกว่าที่ กยท. กำหนด โดยเสนอซื้อในราคา 37.28 บาทต่อกิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 3,900 ล้านบาท 

 

 

 ทำไมราคาที่เสนอซื้อถูกกว่า ราคายางในช่วงเวลานั้น  

 

 

ราคายางแผนรมควันชั้น 3 ในเดือนเมษายน 2564 เฉลี่ย  62.80  บาท/กก.แต่นี่คือ ราคายางใหม่ ดังนั้นจะเอาราคายางเก่า 9 ปีที่เสื่อมสภาพแล้วจะนำมาเปรียบเทียบกันกับราคายางใหม่ แล้วกล่าวหาว่า รัฐเสียประโยชน์และเป็นการทุบราคายาง ไม่น่าจะถูกต้อง

 

 

คิดง่าย ๆ รถยนต์ใหม่ป้ายแดงกับรถยนต์เก่า 9 ปีที่ขับไม่ได้จะขายในราคาเท่ากันหรือไม่  และเมื่อขายรถยนต์เก่าในราคาถูก จะเป็นการทุบราคารถยนต์ใหม่...ใช่หรือ

 

 

นอกจากนี้ในการประมูลขายยางในสต๊อกครั้งที่ 3 ยังได้กำหนดให้บริษัทผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการชำระเงินทั้งหมดให้แก่ กยท. ภายในวันที่ 28 พฤษภาค2564  และดำเนินการรับมอบยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 
31 พฤษภาคม 2564 หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด ผู้ชนะการประมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด

 

 

พร้อมยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บริษัทผู้ประมูลยางได้ต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบที่จะนำมาเป็นข้ออ้างกดราคารับซื้อยางในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่จะมียางใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมากขึ้น

 

 

 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะได้บริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปตลอดจนมีความเข้มแข็งทางการเงินพอเพียง เพื่อการันตีว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับรัฐและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง

 

 

กยท.จึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะประมูลด้วยว่า จะต้องเคยร่วมประมูลซื้อยางที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทกับ กยท.  และโรงงานต้องมีปริมาณการผลิตและแปรรูป มากกว่า 200,000  ตัน ในปี 2563 ตลอดจนต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  200 ล้านบาท   พร้อมให้ยื่นหลักฐานแสดงความสามารถในการชำระเงิน หรือหลักฐานที่ธนาคารรับรองไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท 

 

 

หลังจาก บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล ราคายางใหม่ในตลาดไม่ได้ลดลงเลย ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ราคาเฉลี่ย 68.27 บาท/กก. ในเดือนมิถุนายน 2564  ราคาเฉลี่ย 61.48 บาท/กก.  ราคายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับก่อนที่จะเปิดประมูลยาง แสดงว่า การประมูลยางเก่าในสต็อกครั้งนี้ไม่มีผลต่อราคายางใหม่ในตลาด
    

 

ราคายางเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ซึ่งน่าจะมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ที่ค่อนข้างรุนแรง ประกอบกับยางใหม่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติ Demand กับ Supply 

 

 

ก่อนหน้านี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท    ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้วิเคราะห์ไว้ว่า  ในช่วงนี้ของทุก ๆ ปี ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดค่อนข้างมากอยู่แล้ว ราคายางจึงจะลดลงบ้าง แต่ปีนี้ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อราคายาง น่าจะมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้ตลาดยางยังมีความกังวล  

 

 

แต่ถ้ามองในระยะยาวการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการใช้ยางจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผนวกกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะ 3   มาตรการสนับสนุนการทำสวนยางแบบผสมผสาน และมาตรการอื่น ๆ ของรัฐบาล  แล้วราคายางในอนาคตน่าจะสดใสอย่างมีเสถียรภาพ

 

หากพิจารณาวิเคราะห์ให้ดี ๆ แล้ว ถ้า กยท.ไม่ตัดสินใจขายยางเก่าในสต๊อกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ราคายางในปัจจุบันอาจจะต่ำกว่านี้อย่างแน่นอนเพราะต่างชาติคิดว่า ยังมียางในสต๊อก แล้วก็จะกดราคารับซื้อ ยางใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงนี้....ราคายางแผ่นรมควันอาจจะต่ำกว่า 40 บาท / กก.ก็เป็นไปได้