“มทรส.” ดันแผนผลิตบัณฑิตเก่ง เทคโน-นวัตกรรม รับตลาดแรงงานในอนาคต
แผนผลิตกำลังคน 5 ปี "มทรส." ตั้งเป้าปั้นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมกว่า 30,000 คน รองรับความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการเป็นผู้ประกอบการ วาดฝันนำประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ(มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ สื่อสารและประชาสัมพันธ์ "มทรส." เปิดเผยว่า จากการที่สภามหาวิทยาลัย เห็นชอบ แผนการพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พ.ศ. 2566 - 2570
โดยมีศาสตราจารย์ประยุทธ์ อัครเอกฒาลิน เป็นประธานกรรมการ จัดทำ ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมงานของ "มทรส."
ซึ่งแผนฯดังกล่าวมุ่งเน้นผลิตกำลังคน เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังแรงงานของประเทศด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการเป็นผู้ประกอบการ
ทั้งระดับปริญญา (Degree)และระดับประกาศนียบัตร (Non-degree) โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเป็นตัวนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล / เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์เป็นตัวนำไปสู่การพัฒนากำลังคน
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการแปรรูปผลิตผลเกษตรแบบประณีตและแม่นยำเป็นเป็นตัวนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมเกษตร
ทั้งนี้จุดเน้นของแผนฯนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะ Re-skill/Up-skill/New-skill โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ทำงานจริงจากการเรียนการสอน ในรูปแบบสหกิจศึกษาที่เข้มข้น ใน 3 รูปแบบ คือ
1.แบบแยก เป็นการเรียนการสอนแบบสหกิจที่เรียนภาคทฤษฎีในมหาวิทยาลัย และภาคปฏิบัติในสถานประกอบการประมาณ 4 เดือน
2.แบบคู่ขนานเป็นการศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัย และในสถานประกอบการควบคู่กันไป และ
3. แบบผสมผสาน เป็นการเรียนภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติทั้งในมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการไปพร้อมกันตามช่วงเวลาที่กำหนด
นายธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตที่คาดหวัง ภายใต้แผนพัฒนากำลังคนฯนี้จะสามารถผลิตบัณฑิต ที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล /ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ /ด้านหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ด้านละ 10,000 คน และด้านเกษตรอัจฉริยะ อีกกว่า 500 คน
“นอกจากบัณฑิตที่จบ มีตลาดรองรับ มีงานทำอย่างมั่นคงแล้ว จะสามารถเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศไทยให้มีศักยภาพ ในการแข่งขันกับนานาประเทศได้มากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจ และสังคม เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป”กรรมการสภา มทรส. กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "มทรส." เปิดหลักสูตรดีเพื่อการมีงานทำ"นักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมีเดีย"
- “ม.วลัยลักษณ์" จับมือภาคีเครือข่ายฯแก้ความยากจนภาคใต้ตอนบน
- "สังคมสูงอายุ"อย่างสมบูรณ์ในอีก 2ปี ม.มหิดลแนะไทยรับมืออย่างมีสติ
- "ตรีนุช" ไม่บังคับรร. "เปิดเทอม" เต็มรูปแบบพร้อมกัน 1 พฤศจิกายนนี้
- ถอยเพื่อรุก "ตรีนุช" ย้ำเปิดเวทีมีส่วนร่วมถก “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”