"น้ำท่วม" ยังเอาอยู่ กรมศิลปากร ป้อง "โบราณสถาน" เฝ้าระวังเข้มตลอด 24 ชม.
กรมศิลปากร คุมเข้ม "โบราณสถาน" ในพื้นที่ "น้ำท่วม" เสริมแนวคันกั้นน้ำ พร้อมสั่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง แม้ปัจจุบันยังเอาอยู่
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมศิลปากรได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด ปกป้องโบราณสถานสำคัญ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย รายงานพื้นที่แหล่งมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณประเทศไทยตอนบน ที่ได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเป็นจำนวนมาก และเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย ภายในบริเวณโบราณสถาน ปัจจุบันภาพรวมของสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมลดน้อยลง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยพบว่า มีปริมาณน้ำฝนที่ท่วมขังไม่มากนัก รอการระบายออกจากพื้นที่
ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับผลกระทบจากพายุฝน มีต้นไม้บางส่วนล้มทับ ทำให้โบราณสถานเสียหายเล็กน้อย ได้แก่ แนวกำแพงศิลาแลงวัดพระนอน และป้อมทุ่งเศรษฐี ซึ่งมีน้ำฝนที่ท่วมขังรอการระบาย อย่างไรก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง นักท่องเที่ยวยังคงสามารถเดินทางมาเที่ยวชมโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ได้ตามปกติ
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ถือว่ามีความเสี่ยง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อประเมินแล้วพบว่า จะมีผลกระทบกับโบราณสถานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณภายใน และภายนอกเกาะเมืองทั้งหมด ดังเช่น วัดเชิงท่า วัดธรรมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดไชยวัฒนาราม ป้อมเพชร บ้านโปรตุเกส และบ้านฮอลันดา
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา กรมศิลปากรจึงติดตั้งแผงป้องกันน้ำในจุดแรกคือวัดไชยวัฒนาราม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำสุด และดำเนินการในโบราณสถานอื่น ๆ ตามลำดับ ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 29 ก.ย.2564 เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำท้ายเขื่อน 2,749 ลบ.ม. ต่อวินาที ทำให้ขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อนแล้ว ในโบราณสถานบางแห่ง เช่น วัดไชยวัฒนารามและวัดธรรมาราม ในระดับ 30-40 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม แผงป้องกันน้ำของโบราณสถานทั้งสองแห่ง สามารถป้องกันน้ำได้ถึงระดับ 2 - 2.5 เมตร ต่อจากนี้กรมศิลปากร ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมกำลังคน และวัสดุอุปกรณ์ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อบจ.พระนครศรีอยุธยา เทศบาลฯ กอ.รมน.พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ
ผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเสียหาย ในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการชำรุดของเขื่อนลำเชียงไกรตอนล่าง ทำให้มวลน้ำจำนวนมาก เริ่มไหลทะลักลงมายังพื้นที่ท้ายเขื่อน บางส่วนของอำเภอเมือง อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย ทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับโบราณสถาน และแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ต้องระดมเจ้าหน้าที่ เร่งวางแนวกระสอบทราย บริเวณริมตลิ่ง ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ที่ติดกับแม่น้ำมูล ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า 180 เมตร โดยในขณะนี้ สามารถวางแนวกระสอบทรายได้ที่ความสูงเหนือจากพื้นตลิ่ง ทำให้ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำมูล ยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของแนวกระสอบทราย นอกจากนี้ ยังทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อคอยสูบน้ำที่ซึมเข้ามาตามแนวท่อ และพื้นของสนาม ที่อยู่ติดริมแม่น้ำมูล อีก 2 เครื่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สภาพอากาศปลอดโปร่ง และไม่มีฝนตก ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง แต่ทางอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยง ในบริเวณโดยรอบปราสาทพิมาย เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ หากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน นอกจากนี้ ยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มัดรวม "เลขเด็ด" 3 เจ้าแม่ให้แนวทางหวยงวด 1/10/64 คอหวยห้ามพาด
- "เลขเด็ด 1/10/64" หวย "เจ๊นุ๊ก" ตำนาน 3 ตัวตรง 3 งวดติด ให้แนวทาง
- "เงินด่วน" คนตกงาน เช็คเงื่อนไขแบงก์ไหนปล่อยกู้ "สินเชื่อส่วนบุคคล"
- "วัคซีนเข็ม 3" หมอแนะคนจอง "Moderna" อย่ารอ รีบฉีด "AstraZeneca" ด่วน
- เช็คด่วนเงื่อนไข "พักหนี้" ลดดอก 0% นาน 4 เดือน ธอส. ช่วยน้ำท่วม สิ้นสุด 31 ต.ค.