"ประภัตร"ควง ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ชัยภูมิลุยน้ำท่วม-เปิดผลสำรวจเสียหาย
"ประภัตร" ควง ปลัดเกษตรฯ ติดตามนายกฯลงพื้นที่ให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ เปิดผลสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมชัยภูมิ
วันที่ 29 กันยายน 2564 "นายประภัตร โพธสุธน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าวและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ติดตามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในอำเภอจัตุรัส ณ วัดชัยชนะวิหาร (วัดบ้านละหาน) ต.ละหาน อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นด้านพืชในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 64) พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจำนวน 88,560 ราย มีพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหาย 1,096,438 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 487,621 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 608,011 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 806 ไร่ โดยในพื้นที่ อำเภอจตุรัส
มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 13,348 ราย พื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหาย 211,181 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 115,000 ไร่ และพืชไร่และพืชผักจำนวน 96,181 ไร่
ในส่วนด้านประมงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยจำนวน 3 อำเภอ สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ (ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน) ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จำนวน 540 ราย 270 ไร่ประมาณการมูลค่าความเสียหาย 1,300,000 บาท อำเภอหนองบัวระเหว จำนวน 88 ราย 47.50 ไร่ ประมาณการมูลค่าความเสียหาย 350,000 บาท และอำเภอจตุรัส จำนวน 60 ราย เสียหาย 45.00 ไร่ ประมาณการมูลค่าความเสียหาย 210,690 บาท
ทางด้านปศุสัตว์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเนินสง่า อำเภอจตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอหนองบัวระเหว มีสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และไก่พื้นเมือง รวมทั้งสิ้น 15,681 ตัว
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย. 64 โดยช่วยเหลือกรณีเสียหายสิ้นเชิง (ตาย/สูญหาย) แบ่งเป็น
ด้านพืช ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท
ด้านประมง (สัตว์น้ำ) ได้แก่ ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และกระชัง/บ่อซีเมนต์ ตรม.ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.
ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โค ตัวละ 13,000 – 35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) กระบือ ตัวละ 15,000 – 39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) สุกร ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) แพะ/แกะ ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง ตัวละ 30–80 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว) ไก่ไข่/เป็ดไข่ ตัวละ 30 – 100บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว)
ไก่เนื้อ ตัวละ 20 - 50 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) เป็ดเนื้อ/เป็นเทศ ตัวละ 30 - 80 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) นกกระทา ตัวละ 10 – 30 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) นกกระจอกเทศ ตัวละ 2,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) และห่าน ตัวละ 100 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)
ด้านอื่น ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลนไม่เกิน 35,000 บาท/ราย การช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่ เหมาจ่าย 800 บาท/ไร่ การช่วยเหลือค่าปรับพื้นที่ทำนาเกลือ ไร่ละ 1.220 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ การช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท/ครัวเรือน และการช่วยเหลือค่าซ่อมแซมคอกสัตว์/โรงเรือน/ยุ้งข้าว ครัวเรือนละไม่เกิน 5,700 บาท
สำหรับกรณีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยกับ ธ.ก.ส. แบ่งเป็น ข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,740 บาท/ไร่
ด้านนายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้เตรียมการช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ด้วยการให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยพิบัติจนทำให้ต้นข้าวที่ปลูกไว้เสียหายสิ้นเชิง หรือเสียหายมากกว่าร้อยละ 80 และจังหวัดประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินแล้ว และให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูกเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูต่อไป หรือกระจายให้เกษตรกรอื่นในชุมชนใช้เพาะปลูก
ทั้งนี้ คุณสมบัติของเกษตรกรผู้จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจนขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูเดียวกัน และมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเพาะปลูกในฤดู
เดียวกัน หรือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10ไร่ๆละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) แบ่งเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง 1,701,200 กิโลกรัม ข้าวหอมปทุม 500,400 กิโลกรัม และข้าวเหนียว 2,350,100 กิโลกรัม รวม 4,551,700 กิโลกรัม
โดยปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย. 64 ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว
ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท