ข่าว

"ราคาน้ำมัน" พุ่ง มูลเหตุหลัก "เศรษฐกิจโลกโต-เงินบาทอ่อนค่า" ทำประชาชนอ่วม

"ราคาน้ำมัน" พุ่ง มูลเหตุหลัก "เศรษฐกิจโลกโต-เงินบาทอ่อนค่า" ทำประชาชนอ่วม

30 ก.ย. 2564

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้ มูลเหตุหลัก "ราคาน้ำมัน" พุ่ง "เศรษฐกิจโลกโต-เงินบาทอ่อนค่า" ทำประชาชนอ่วม ระยะสั้น เบนซินมีโอกาสแตะ 40 บาท/ลิตร

หลังจากในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในประเทศไทย มีการปรับขึ้นถึง 5 ครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลใกล้จะแตะ 30 บาท/ลิตร และเบนซินใกล้ทะลุ 40 บาท/ลิตรแล้ว นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้ เชื่อว่ามาจากปัจจัยภายนอก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ภาพรวม World Bank ระบุว่า จะโตถึง 5% ส่วน IMF ระบุว่า
เศรษฐกิจโลกจะโตถึง 6% ในปี 2564 นำโดยจีน และสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวสูง จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นทุกวันนี้ มาจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวดีขึ้น
 

\"ราคาน้ำมัน\" พุ่ง มูลเหตุหลัก \"เศรษฐกิจโลกโต-เงินบาทอ่อนค่า\" ทำประชาชนอ่วม

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังดีขึ้น แต่สวนทางกับประเทศไทย ที่กำลังเจอกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการประกาศล็อกดาวน์นานเป็นเดือน ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะงัก และเกิดภาวะการขาดดุล บัญชีเดินสะพัดค่อนข้างหนัก ถึงแม้ว่าการส่งออกของประเทศจะดีขึ้น แต่การนำเข้าก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป ทำให้เงินไหลออก มากกว่าไหลเข้า ซึ่งตัวเลขเงินไหลออกอยู่ที่ 3 แสน 4 หมื่น 3 พันล้านบาท รวมทั้ง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำมันมีการปรับราคาขึ้นด้วย และมีแนวโน้มที่จะคงที่ หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก จากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่า จะไม่สูงขึ้นมากเหมือนเมื่อครั้งที่ราคาน้ำมันดิบแตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล

 

ส่วนแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องปรับลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันลง หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือ คือ รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ระดับหนึ่ง โดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชย และเมื่อราคาน้ำมันลดลง จึงเก็บส่วนที่ชดเชยไปคืนกลับมา ซึ่งสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไป 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้น มีโอกาสปรับสูงขึ้นอีก เบนซินอาจแตะ 40 บาทต่อลิตร และดีเซล ก็มีสิทธิแตะที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งประชาชนจะควบคุมต้นทุนลำบาก ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น  

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง