เครือข่ายผู้ใช้ "ไอคอส" หนุน รมว. ดีอีเอส ปลดล็อกไอคอส
มนุษย์ควันหนุน รมว.ดีอีเอส ปลดล็อก "ไอคอส" ชี้งานวิจัยจากต่างประเทศระบุช่วยลดความเสี่ยงได้เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่
จากกรณีข่าวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ช่วงการเคาะโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ โดยระหว่างการพิจารณานายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า ควรพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน หรือ “ไอคอส” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากให้เป็นของถูกกฎหมายและเก็บภาษีเข้ารัฐ
เพราะในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปและหันไปนิยมบุหรี่รูปแบบใหม่มากขึ้น หากทำให้ถูกกฎหมาย ก็จะช่วยสร้างโอกาสและลดการขาดทุนของการยาสูบแห่งประเทศไทยหากมีการตั้งโรงงาน ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ รัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย และสามารถจัดเก็บรายได้ทางภาษีได้มากขึ้น พร้อมหยิบยกผลการวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า "ไอคอส" มีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวน
นายสาริษฎ์ สิทธิเสรีชน แอดมินเพจเฟซบุ๊ค มนุษย์ควัน ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 30,000 คนเผยว่า ตนว่าคนไทยดีใจและไม่แปลกใจที่ รมว.ชัยวุฒิ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ "ไอคอส" จะยังผิดกฎหมายแต่ในประเทศไทยมีผู้ใช้ "ไอคอส" จำนวนมาก ไม่น่าจะต่ำกว่า 1-2 แสนคน แถมยังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักการเมือง ทั้ง ส.ส. ในสภาและรัฐมนตรีเองก็เป็นผู้ใช้กันหลายคน
แต่รัฐบาลกลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ซึ่งทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์นี้ มีวางขายอย่างถูกกฎหมายเกือบ 70 ประเทศทั่วโลกในญี่ปุ่นและเกาหลีก็หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-eleven
และเมื่อ ก.ค. 63 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ(US-FDA) ก็ได้อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน สามารถสื่อสารในฐานะผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ลดการได้รับสารที่เป็นอันตราย จากการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงที่เรียกว่า MRTP ว่าไม่มีการเผาไหม้ ลดการเกิดสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างมีนัยยะสำคัญ และถ้าเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่แบบเดิมมาใช้ ก็จะสามารถลดการได้รับสารอันตรายลงได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทางสาธารณสุขและแพทย์ยังยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายอยู่ ท่ามกลางข้อถกเถียงของสังคมในปัจจุบัน เพราะมีการออกมาเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เหล่านี้ถูกกฎหมาย และมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบอย่างจริงจัง เนื่องจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในประเทศไทยและข้อมูลที่ในต่างประเทศขาดความสอดคล้องกัน
ถ้า "ไอคอส" อันตรายขนาดนั้น ทำไมอีก 67 ประเทศทั่วโลกจึงอนุญาตให้ขายได้ถูกต้องตามกฎหมาย น่าผิดหวังที่รัฐบาลไทยและกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ยังหยิบยกเรื่องความอันตรายของผลิตภัณฑ์มาอ้างแบบผิด ๆ ตลอดซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับผลการวิจัยของต่างประเทศ และแนวทางการควบคุมผลิตภัณฑ์นี้อย่างถูกกฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ
เช่น อเมริกา นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจยังไม่เคยได้เห็นข้อมูลการวิจัยเหล่านี้ หรือไม่เคยทราบว่าต่างประเทศมีความก้าวหน้าเรื่องนโยบายยาสูบแบบให้ความร้อนไปถึงไหนแล้วบ้าง ผมอยากเห็นรัฐมนตรีคนอื่น ๆ และ สส. ในสภา ที่เป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และ "ไอคอส" ลุกขึ้นมาผลักดันและสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่
และเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยทั้งในด้านสุขภาพ ด้านภาษี และมิติอื่น ๆ เราฝืนธรรมชาติไม่ได้เพราะปล่อยไว้แบบนี้ คนได้ประโยชน์มีแต่คนที่ค้าขายอยู่ใต้ดินและเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตรับสินบน แต่ประเทศชาติไม่ได้อะไรเลย เดี๋ยวผมจะส่งการวิจัยต่าง ๆ ให้นายกฯลุงตู่อ่านด้วยจะได้เข้าใจถูกต้อง นายสาริษฎ์ กล่าว