"นักวิชาการ" เชื่อยังต้องใช้เวลาอีก 50-60 ปี กว่า AI จะทำงานแทนมนุษย์ได้
อีก 50 ปี AI จะทำงานแทนมนุษย์‘ไทย’ ต้องปั้นคนนวัตกรรมสร้างความมั่นคงประเทศ‘SIIT ธรรมศาสตร์’ ประกาศมอบ 100 ทุนการศึกษา
"นายกสมาคมเอไอ"และ" ราชบัณฑิต" เชื่อยังต้องใช้เวลาอีก 50-60 ปี กว่า AI จะทำงานแทนมนุษย์ได้ ชี้ยังคงมี “งาน” แต่ต้องการ “คนนวัตกรรม” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้าน “สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร” ฉลอง 30 ปี มอบ 100 ทุนการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนในยุควิกฤตโควิด-19
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) และราชบัณฑิต ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “SIIT มอบ 100 ทุน ปั้นคนนวัตกรรม ผู้นำความเปลี่ยนแปลง" เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ความจริงแล้วนิยามของนวัตกรรมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ ฉะนั้นนวัตกรรมจึงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงสังคม เชิงธุรกิจ การจัดการต่างๆ โดยการใช้นวัตกรรมเข้าไปสนับสนุนจะช่วยให้เราสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นกว่าเดิม
ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าอีกประมาณ 50-60 ปี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ได้ หรือที่เรียกว่าArtificial General Intelligence (AGI) และอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 80 ปี กว่า AI จะเก่งกาจกว่ามนุษย์ หรือที่เรียกว่า Artificial Super Intelligence (ASI) อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันมนุษย์จะยังคงมีงานอยู่ แต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นรากฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย เราจำเป็นจะต้องฝึกฝนสร้างคนนวัตกรรมที่พัฒนาไปกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
“ประเทศไทยต้องพยายามสร้างคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องใน Supply Chain ด้านนวัตกรรมให้ได้มากขึ้น เพราะการที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง จำเป็นต้องมีคนหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมในกระบวนการ” ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าว
ทางด้าน ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรนธร (SIIT) กล่าวว่า ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 คือการคิดค้นและผลิตวัคซีนป้องกันโรค ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น จากปกติที่ต้องใช้เวลานานหลายปี โดยวัคซีนที่ใช้กันอยู่นั้นตั้งต้นมาจากองค์ความรู้จากงานวิจัยเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) เช่นเดียวกับภาคนโยบายที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการอนุมัติให้รวดเร็วขึ้น โดยยังรักษาความปลอดภัยไว้ในระดับที่ยอมรับได้ ทำให้การแก้ไขวิกฤตการณ์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ศ.ดร.พฤทธา กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อวิทยาการของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความต้องการ พร้อมกับมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้นความสามารถของแรงงานที่ต้องการในตลาดก็เปลี่ยนแปลงตาม นั่นจะส่งผลไปถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคม และเป็นโจทย์ของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมมีความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง
“การเรียนการสอนที่เน้นให้ความรู้อย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะองค์ความรู้เหล่านั้นสุดท้ายก็จะเก่าและหมดอายุได้ ดังนั้นบทบาทของภาคการศึกษา คือการมอบชุดความรู้ที่ใหม่ที่สุดในวันนี้ให้นักศึกษา แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการมอบความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อไปทดแทนชุดความรู้ที่จะหมดอายุในอนาคต” ศ.ดร.พฤทธา กล่าว
ศ.ดร.พฤทธา กล่าวอีกว่า โจทย์สำคัญคือการสร้างคนนวัตกรรม ที่จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ 1. มีความรู้ดี 2. มีความสามารถในการแก้ปัญหา 3. มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเรียนการสอนของ SIIT จะให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนแก้ปัญหาของนักศึกษา โดยจัดให้มีการเรียนการสอนแบบ Problem-based learning และ Active learning เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้โอกาสนักศึกษาได้แก้ปัญหาจริง ผ่านการฝึกงาน โครงงานนักศึกษา และโครงการวิจัยของอาจารย์ เพื่อสร้างบุคคลที่มีคุณสมบัติของคนนวัตกรรม และเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศต่อไป
ด้าน รศ.ดร.วารี กงประเวชนนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรับเข้าศึกษาและประชาสัมพันธ์ SIIT กล่าวว่า SIIT นั้นมีเครือข่ายและความร่วมมือทั้งในภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยหลักสูตรที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ส่งผลสะท้อนผ่านตัวเลขบัณฑิตจบใหม่ของ SIIT ที่ได้รับการจ้างงานในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยเสมอมา
รศ.ดร.วารี กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่อาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักเรียนผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการของ SIIT เนื่องจากขณะนี้ทางสถาบันได้เปิดโครงการสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (OSP) ปีการศึกษา 2565 ด้วยรูปแบบทุนหลากหลายประเภท ที่ในปีนี้มีการมอบให้มากถึง 100 ทุน เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของ SIIT เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสร้างสรรค์คนนวัตกรรม ที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไป โดยสามารถดูรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564 ทางเว็บไซต์ admissions.siit.tu.ac.th
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "ตรวจหวย" 1/10/64 ผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หวย งวดวันที่ 1 ตุลาคม 2564
- ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศคงข้อกำหนด"ห้ามชุมนุม" ช่วงโควิด-19
- "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เงินเข้าอีกวันนี้ ค่าอะไร กดเงินได้มั้ย เช็คเลย
- เดือน"ตุลาอาถรรพ์" จ้องเขย่าซ้ำเก้าอี้นายกฯ ลุงตู่
- "หมอพร้อม" พร้อมแล้ว! ชวนเด็กโหลดแอป-สมัคร LINE OA แจ้งข้อมูลฉีดวัคซีน