ข่าว

เสน่ห์ โคมล้านนา มรดกของ "ชาวเหนือ" สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น

เสน่ห์ โคมล้านนา มรดกของ "ชาวเหนือ" สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น

02 ต.ค. 2564

แม้ว่าน้องๆ นักเรียน จะต้องหยุดเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่น้อง ๆ ไม่หยุดหาความรู้ให้กับตัวเอง ช่วยกันผลิตโคมล้านนา หรือ โคมไต เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น หารายได้ระหว่างหยุดเรียน

ทั้งหมดนี่คือผลงานของน้อง ๆ นักเรียน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โคมไฟสวยงามแต่ละลูก เป็นความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาสวยสะดุดตา นอกจากนักเรียนจะได้เพิ่มทักษะด้านความรู้ ทักษะด้านอาชีพ สร้างรายได้เสริม เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญในพลังเยาวชนในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นสืบไป 

เสน่ห์ โคมล้านนา มรดกของ \"ชาวเหนือ\" สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น

นายเรืองศักดิ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) บอกว่า การทำโคมไฟแบบล้านนา หรือโคมไต ทางโรงเรียนได้มีการพัฒนาต่อยอดมาทุกๆปี โดยมีนายปรีชา สอนมาลา หรือครูหมู ผู้เชี่ยวชาญการประดิษฐ์โคม เป็นผู้ฝึกสอนให้กับนักเรียนในช่วงที่โรงเรียนหยุดเรียน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเดิมการตกแต่งโคมจะใช้กระดาษสา หรือกระดาษว่าว แต่ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโคมด้วยผ้าสีสันต่าง ๆ เพิ่มความสวยงาม คงทน ต่อแดดและฝน สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยนักเรียน อ.แม่สะเรียง ได้ประดิษฐ์โคมล้านนา จำนวน 300 ลูก เพื่อสร้างรายได้ในช่วงหยุดเรียน และเพิ่มทักษะทางอาชีพและทักษะชีวิต ส่งขายให้กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เสน่ห์ โคมล้านนา มรดกของ \"ชาวเหนือ\" สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น
 

สำหรับการประดิษฐ์โคมไต หรือโคมล้านนา สนับสนุนส่งเสริม โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมประเพณี และเพิ่มมูลค่าสินค้าของกลุ่มนักเรียน ซึ่งโคมล้านนาดังกล่าวจะเตรียมไว้ใช้ประดับตกแต่งตามสถานที่ราชการ ตามบ้านเรือน ตามถนน ตั้งแต่ทางเข้า อ.แม่สะเรียง ในงานประเพณีออกหว่า หรือเทศกาลออกพรรษา ช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกๆปี

เสน่ห์ โคมล้านนา มรดกของ \"ชาวเหนือ\" สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น
ภาพ/ข่าว ชนานันท์ เง่าสุวรรณ์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.แม่ฮ่องสอน

อ่านข่าวที่น่าสนใจ