"ม.มหิดล" เจ๋ง 3 นวัตรรมทางการแพทย์ รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี2564
“ม.มหิดล” ผลักดัน 3 ผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ล่าสุด ภายใต้ MIND Center สามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ จาก ก.พ.ร. ประจำปี 2564
จะดีต่อประเทศไทยเพียงใด หากสามารถผลิตนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการช่วยโลกประหยัดการใช้ทรัพยากรได้ต่อไปอีกด้วย
เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี "ม.มหิดล" (Medical Innovations Development Center หรือ MIND Center)ได้มุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมคุณภาพสู่สังคมไทย และนานาชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมทางการแพทย์ จนล่าสุดสามารถคว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี "มหาวิทยาลัยมหิดล" กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะฯ ได้ผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม ภายใต้การสนับสนุนโดย MIND Center ซึ่ง 3 ผลงานล่าสุดที่สามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้แก่
“อุปกรณ์เก็บและล้างสายสวน (Endovascular Basin)” “อุปกรณ์ช่วยเดินกำหนดจังหวะในผู้ป่วยพาร์กินสัน” และ “ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก” โดยนอกจากช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ และเครื่องมืออุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์เก็บและล้างสายสวน (Endovascular Basin)” สามารถคว้ารางวัลบริการเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ โดยที่มาเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำงานในห้องผ่าตัด ที่ต้องใช้สายสวนขนาดต่างๆ เพื่อการสอดอุปกรณ์เข้าไปนำทางในหลอดเลือด เช่น ในการผ่าตัดหัวใจ
ด้วยผลงานนวัตกรรมที่สามารถจัดระเบียบสายสวนที่ยุ่งเหยิงให้ง่ายต่อการหยิบจับสำหรับศัลยแพทย์ในห้องผ่าตัดนี้ ทำให้การผ่าตัดทำได้โดยสะดวก รวดเร็ว สามารถเติมลมหายใจให้กับชีวิตผู้ป่วย
เช่นเดียวกับผลงาน “อุปกรณ์ช่วยเดินกำหนดจังหวะในผู้ป่วยพาร์กินสัน” ที่คว้ารางวัลบริการเลิศรัฐ ระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากโจทย์ที่มุ่งคืนคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว
ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยเดินกำหนดจังหวะซึ่งนำทางด้วยแสงเลเซอร์นี้ สามารถทำให้ฝันของผู้ป่วยพาร์กินสันที่จะกลับมาก้าวเดินได้ดีขึ้นอีกครั้งกลายเป็นจริง ผลลัพธ์ที่ดีเหล่านี้ส่งผลให้ทีมงานมีแผนจะขยายต่อยอดในผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเดินจากความบกพร่องของการควบคุมการเคลื่อนไหวจากสาเหตุอื่นต่อไป
และอีกผลงานนวัตกรรมที่สร้างชื่อให้กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มานานกว่า 2 ทศวรรษ คือ “ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก” ที่คว้ารางวัลบริการเลิศรัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ โดยเป็นการสร้างนวัตกรรมจากโจทย์ปัญหาการเข้าถึงการเปลี่ยนตับของผู้ป่วยเด็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก
นับเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่เติมความหวังให้กับครอบครัว โดยพบว่าลูกที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง และเป็นกำลังของชาติที่ดีต่อไปได้ในอนาคต ผลลัพธ์ที่ดีของทีมงานจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้กองทุนสปสช.บรรจุเป็นสิทธิการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ทั้งประเทศ
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี "ม.มหิดล" ได้มีบทบาททางการแพทย์ในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในปี 2563 จนถึงรอบปัจจุบันในปี 2564 นี้
ไม่ว่าจะเป็น การบริการตรวจ Lab ไวรัสวิทยาบริการแก่สถานพยาบาลอื่นๆ การรักษาดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ในโรงพยาบาลการรักษาแบบกักโรคที่บ้าน (Home Isolation) การรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel)
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ 22 ชุมชนในเขตราชเทวีให้การดูแลผู้ป่วยแบบ Community Isolation ทั้งนี้ รวมจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ทั้งหมดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดูแลในปี 2564 กว่า 11,120 ราย
ไม่เพียงเท่านั้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้สนับสนุนให้ประเทศไทยได้เข้าสู่ “COVID-19 Free Setting” เพื่อให้คนไทย “อยู่ร่วม COVID-19” อย่างปลอดภัย โดยร่วมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แก่ประชาชนรวมกว่า 300,000 เข็ม เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 เพื่อการเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยเร็ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้ยัง รัฐบาลจ่ายเงินให้ "นักเรียน" กี่บาทต่อคนต่อปี
- ครูเฮ รัฐบาลลุงตู่ เร่งสาง "หนี้ครู" ทั้งระบบ
- ม.มหิดล ได้ที่ 1 ของไทย ในภาพรวม และ ด้านวิจัย
- ครูเฮ!คืนครูสู่ห้องเรียน19วันใน1ปีพลิกชีวิตเด็กไทย