ข่าว

"กกต." แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมให้พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.   ลต. ครั้งหน้า

"กกต." แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมให้พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส. ลต. ครั้งหน้า

04 ต.ค. 2564

"กกต." แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัคร ส.ส.เลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองทุกเขตเลือกตั้งที่จะส่งผู้สมัคร สร้างปัญหาพรรคเล็ก- สรรหาตัวผู้สมัคร เตรียมไว้ก่อนมีประกาศเลือกตั้งได้ ป้องกันส่งผู้สมัครไม่ทัน

 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำหนังสือลงวันที่ 1 ต.ค.2564 ส่งถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง เรื่อง การเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป

 

 

โดยระบุว่า ตามที่ "กกต." และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือแจ้งหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองเพื่อโปรดทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด การประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมือง การประชุมใหญ่พรรคการเมือง และการเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

 

 

"กกต." ขอเรียนว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป กม.กำหนดให้พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น

 

 

ดังนั้น เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป จึงขอให้พรรคการเมืองตำเนินการ ดังนี้
 

 

 

 

 

1.การดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามมาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 ข้อ 24 ข้อ25 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563 และประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง สมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ. 2564

 

 

การบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองในระบบฐานข้อมูลพรรคการเมืองให้เป็นปัจจุบันเพื่อใช้ในการตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

 

 

การประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองการประชุมใหญ่พรรคการเมือง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น

 

 

2.การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง กรณีพรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรค ตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 โดยมีเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งจังหวัด หากประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดในจังหวัดนั้น พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบจากทั้งจังหวัดเป็นเฉพาะเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น โดยต้องมีที่ตั้งสาขาพรรคการเมืองและคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมีสมาชิกพรรคการเมือง
ที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

 

 

 

 

 

และแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

 

หากไม่ดำเนินการดังกล่าวพรรคการเมืองจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ หรือจะไม่สามารถแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ เพราะจะขัดกับ มาตรา 35 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

 

กรณีที่พรรคการเมืองยังมิได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หากประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็จะต้องดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้เป็นไป ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (2)

 

 

 

ประกอบประกาศนายทะเบียนพรรการเมืองเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พ.ศ. 2563โดยที่สาขาพรรคการเมือง แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาพรรคการเมือง ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป โดยมีเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขาพรรคการเมืองเฉพาะเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง

 

 

ทั้งนี้ สาขาพรรคการเมืองที่จัดตั้งตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (2) เป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับเดียวกัน

 

 

3.การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด กรณีที่พรรคการเมืองยังมิได้แต่งตั้ง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หากประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จักต้องตำเนินการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 35

 

 

ประกอบประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พ.ศ. 2563 โดยที่ในเขตเลือกตั้งนั้นต้องมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้นเกินหนึ่งร้อยคน ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองตามมาตรา39 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ป.ฉบับเดียวกัน

 

 

 

4.การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีกรณีที่ต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยบุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง

 

 

ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทั้งนี้ จำนวนหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นไปตามข้อบังคับพรรคการเมือง แต่อย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขา ซึ่งมาจากต่างภาคกันตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

 

การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามมาตรา 50 และมาตรา 51 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และจะดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหากพรรคการเมืองไปดำเนินการภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่ทันนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
 

 

 

ทั้งนี้ การได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องกระทำการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองโดยวิธีการลงคะแนนลับ
 

 

 

การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามมาตรา 50 และมาตรา 51 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และจะดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหากพรรคการเมืองไปดำเนินการภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่ทันนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
 

 

5.การดำเนินกิจกรรมตามข้อ 1-5 บางกิจกรรมสามารถดำเนินกิจกรรมไปพร้อมกันได้

 

 

อนึ่ง หากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช ... มีผลใช้บังคับพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามร่างรัฐรรมนูญ ฉบับดังกล่าว กฎหมาย รวมตลอดทั้งระเบียบประกาศและคำสั่งของ กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี

 

 

แหล่งข่าวจากพรรคการเมือง ระบุว่า เป็นงานปกติของ "กกต." ที่จะต้องคอยเตือนพรรคการเมืองให้ปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งแต่อย่างใด  เพราะว่าพรรคการเมืองยังไม่คุ้นกับกฎหมายใหม่ จึงต้องเตือนว่าถึงเวลา และให้สรรหาผู้สมัคร ส.ส. ก่อนมีการประกาศเลือกตั้งได้เพราะหากพรรคการเมืองไปดำเนินการภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่ทัน

 

 

และ"กกต." บอกว่า  ถ้าจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ก็ต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.  เมื่อก่อนมีตัวแทนพรรคเขตเลือกตั้งเดียว ก็สามารถส่งผู้สมัครได้ทั้งจังหวัด แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว 

 

 

 อย่างไรก็ตาม ที่กฎหมายระบุว่าต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองนั้น ๆ ครบทุกเขตเลือกตั้งที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองเล็กจะมีปัญหาในเรื่องความพร้อม ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่มีตัวแทนพรรคการเมืองครบทุกเขตเลือกตั้งอยู่แล้ว 

 

 

และในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ต้องทำ ไพรมารีโหวต ด้วยซี่งมีความยุ่งยากมาก

 

 

การทำ ไพรมารีโหวต มีขั้นตอนดังนี้

 

 

ในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ของแต่ละพรรค จะเปิดรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ

 

 

และจะส่งรายชื่อให้ สาขาพรรคการเมือง หรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อจัดการประชุมให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามรายชื่อนั้น

 

 

 

โดยมีข้อกำหนด คือ พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ใดได้นั้น ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่นั้น และในการประชุม สาขาพรรคต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งสมาชิกจะลงคะแนนเสียงเลือกได้หนึ่งคน และผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คนแรกของแต่ละเขตเลือกตั้ง จะถูกส่งให้ “คณะกรรมการบริหารพรรค” ให้ความเห็นชอบ  
 

 

 

ส่วนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีขั้นตอน คือ คณะกรรมการสรรหาฯ จะเปิดรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 คน แล้วส่งบัญชีรายชื่อให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพื่อจัดประชุม โดยสมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน จากบัญชีรายชื่อ

 

 

จากนั้น คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ

 

 

 

 

\"กกต.\" แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมให้พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.   ลต. ครั้งหน้า

 

 

\"กกต.\" แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมให้พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.   ลต. ครั้งหน้า
 

 

 

\"กกต.\" แจ้งทุกพรรคการเมือง เตรียมให้พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.   ลต. ครั้งหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง