เสียงสะท้อนความล้มเหลวภาครัฐขึ้น"ภาษีบุหรี่"
เสียงสะท้อนความล้มเหลวภาครัฐขึ้น "ภาษีบุหรี่" ไม่ช่วยปกป้องคนไทยจากภัยบุหรี่ หลังมีการประกาศขึ้น ภาษีบุหรี่ เป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่กลับลดลงเพียงเล็กน้อย
ภายหลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ออกมาประกาศขึ้น"ภาษีบุหรี่" เป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน หวังลดการบริโภคบุหรี่ลงได้ 2-3%
ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาหนุนให้ปลดล็อกผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ไอคอส ก็เป็นที่มาของการถกเถียงกันในสังคม มีทั้งเสียงเสียงสนับสนุนและการคัดค้านจากหลายฝ่าย
นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สส.พรรคก้าวไกล เขต 1 เชียงราย ได้โพสต์ผ่านหน้าเฟซบุ๊กเพจ ชี้ว่า การ "ขึ้นภาษี" อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการควบคุม "บุหรี่"
และบางทีมุขเดิม ๆ วิธีเดิม ๆ ที่ใช้ในการควบคุม "บุหรี่"อาจไม่ได้ผล พร้อมแสดงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิงการขึ้นภาษีส่งผลให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง
แต่จำนวน "ผู้สูบบุหรี่" กลับลดลงเพียงเล็กน้อย แค่ 2 %(อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยในช่วงปี 2560-2564) สะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐในการบริหารจัดการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเสนอมุมมองใหม่โดยเฉพาะการปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย
ผลจากการขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง วัดจากตัวเลขกำไรของโรงงานยาสูบที่ลดลง แต่ทว่าจำนวนผู้สูบได้ทำให้โรงงานยาสูบที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 เหลือกำไรเพียง 513 ล้านบาทในปี 2562 ถ้ากำไรลดลง เนื่องมาจากยอดขายที่ลดลงเพราะคนสูบบุหรี่ลดลงก็คงไม่ว่ากัน
แต่เมื่อดูอัตราคนสูบบุหรี่ที่แทบไม่ขยับลดลงเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อดูแค่ตัวเลขอัตราการสูบบุหรี่เทียบจากปี 60 มาถึง 64 ดูเหมือนจะลดไปประมาณ 2% แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ไม่ได้นับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาด้วย นพ.เอกภพ ระบุ
ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หรือ สส.เท่า สส.พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กเพจwww.facebook.com/Taopiphop ว่าการขึ้น"ภาษีบุหรี่"เป็นเพียงการใช้ข้ออ้างสุขภาพรัฐหารายได้จากประชาชนเท่านั้น เป็นความพยายามอันสิ้นหวังรีด"ภาษีบุหรี่" แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจริง
เพราะนอกจากจะเปิดช่องให้"บุหรี่"แบรนด์จากต่างประเทศนำ"บุหรี่"ราคาต่ำมาขาย กระทบต่อเกษตรกรยาสูบไทยรายได้ลดลงจากยอดขายยาสูบลดลงเป็นผลพวงจากการผูกขาดของรัฐในการผลิตยาสูบในประเทศ และมีการลักลอบขายบุหรี่เถื่อนรายได้"ภาษี"ที่รัฐคาดหวังจะเก็บได้ก็ไม่ได้ แต่เปิดทางให้เกิดการทุจริตคอรัปชัน ส่วนสุขภาพประชาชนโดยรวมก็ไม่ดีขึ้น
นายเท่าพิภพ หรือ สส.เท่า พรรคก้าวไกล ระบุ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอทางออกให้กับประเทศด้วยการสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนโยบายควบคุมยาสูบ แบบ ลดสารอันตราย( (Harm Reduction) เพื่อการแก้ปัญหาแบบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและด้านสุขภาพ
โดยเน้นผลประโยชน์ต่อประชาชนว่าหลาย ปท.ที่พัฒนาแล้วพยายามแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปในอีกทิศทางหนึ่งที่ต่างกัน ด้วยวิธีการลดอันตรายที่เกิดจากสิ่งนั้น ๆ (Harm Reduction) เช่น นิวซีแลนด์ ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งผลวิจัยจากหลายสถาบันก็บ่งบอกว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา เพราะไม่มีการเผาไหม้และไม่เกิดน้ำมันอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ในบางประเทศอย่างอังกฤษ หากต้องการเลิกสูบ "บุหรี่" คุณหมอในโรงพยาบาลก็สามารถสั่งบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังผิดกฎหมายซึ่งอาจขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นได้
ส่วนแอดมินเพจดัง ก็ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยบอกว่า แม้รัฐปรับเพดานภาษีกี่ครั้ง แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ลดลง ทางออกที่ดีน่าจะเป็นของการปรับตัวนำบุหรี่ไฟฟ้าหรือ vape และ IQOS มาใช้ร่วมแก้ปัญหา
สอดคล้องกับ วรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ที่แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เคยย้ำกับรัฐบาลไปหลายครั้งแล้วว่าให้พิจารณาทบทวนเรื่องการแบน "บุหรี่ไฟฟ้า" การแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่มีการทบทวนหรือทำการศึกษาคือการปิดกั้นการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจจะก่อนประโยชน์ทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพราะจะช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บ "รายได้ภาษี"อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และเป็นโอกาสของทั้งเกษตรกร ไร่ยาสูบ และผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่องด้วย พร้อมทิ้งท้ายว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายก็ยังมีการใช้เป็นจำนวนมากที่รัฐสภาและทำเนียบ
อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงคัดค้านจาก นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า และประเภท heat-not-burn products ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน
ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้ากำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงานบางส่วน จนกลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น
แต่ก็ยังพบการโฆษณา การขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" เกลื่อนสื่อออนไลน์และตลาดนัดทั่วไป แม้ว่ากฎหมายไทยจะห้ามการนำเข้า ห้ามขายและให้บริการบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette)อยู่ก็ตาม
ทั้งนี้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดีอีเอส ให้ข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ปกติ และกลุ่มที่คัดค้านน่าจะยังไม่ทราบที่ อย.ของสหรัฐฯ (US-FDA) อนุญาตให้ไอคอสสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ ว่าผู้ใช้ไอคอสจะรับสารอันตรายที่ลดลง เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงที่เรียกว่า Modified Risk Tobacco Products (MRTP) ซึ่งชัดเจนว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ปกติ ซึ่งถ้ามันอันตรายอย่างที่มีการกล่าวอ้าง คงไม่มีประเทศไหนให้ขาย เราอาจได้ยินแต่ข้อมูลจากหมอกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ถ้ามีโอกาสเราน่าจะนำเรียนข้อมูลที่ถูกต้องให้ทราบ