"ศาลรธน." ชี้ โทษละเมิดอำนาจศาล ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หลัง 2 แกนนำม็อบ ยื่นโต้แย้ง
"ศาลรัฐธรรมนูญ" ชี้ โทษละเมิดอำนาจศาล ไม่ขัด "รัฐธรรมนูญ" หลัง เบนจา - ณัฐชนน 2 แกนนำธรรมศาสตร์และการชุมนุม โต้แย้งเป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
6 ต.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธี คือ (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ (ข) ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท นั้น ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจากศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของ น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมายเลขดำที่ ลศ. 6/2564 และนายณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมายเลขดำที่ ลศ.8/25 64 ที่โต้แย้งว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเห็นว่า เป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงขอให้ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ทั้งนี้ น.ส.เบนจา และ นายณัฐชนน ถูกกล่าวหาในฐานความผิด “ละเมิดอำนาจศาล” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แกนนำราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ซึ่งในการไต่สวนของศาลอาญาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื่องจากเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธี คือ (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ (ข) ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท นั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดกับหลักความได้สัดส่วน ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น