ข่าว

โหน 45 ปี "6ตุลา" เยาวรุ่น คิด-วิเคราะห์-เเยกเเยะ ให้จงหนัก

โหน 45 ปี "6ตุลา" เยาวรุ่น คิด-วิเคราะห์-เเยกเเยะ ให้จงหนัก

06 ต.ค. 2564

การแสดงออกในวาระ 45ปี "6ตุลา19" ของใครบางคน-บางกลุ่ม กำลังขับเคลื่อนไปยังหมุดหมายที่ตัวเองต้องการและพยายามโยงหลากสิ่งหลายอย่าง"ทั้งจริงและเท็จ"ผสมปนเป จนเชื่อว่าเป็นความจริง"และเป็นต้นตอจุดชนวนความขัดแย้งอีกครั้ง /เจาะประเด็นร้อนโดย เมฆาในวายุ

"6 ตุลา2519" เวียนวาระมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2564" นับเป็นปีที่ 45 ของเหตุการณ์เดือนตุลา

 

เหตุการณ์เดือนตุลานั้นมีสองวันคือ  "14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519" ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันในการเรียกร้องประชาธิปไตย

 

แต่สภาวะยามนี้ การแสดงออกในวาระ "45 ปี 6ตุลา 2519" ของใครบางคน-บางกลุ่ม กำลังขับเคลื่อนไปยังหมุดหมายที่ตัวเองต้องการและพยายามโยงหลากสิ่งหลายอย่าง"ทั้งจริงและเท็จ"ผสมเป็น"จริงปนเท็จ+เท็จปนเท็จ" จนเชื่อว่าเป็นความจริง"และเป็นต้นตอจุดชนวนความขัดแย้งอีกครั้ง 

 

ธนาธร และพวก ร่วมงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ตอนนี้เห็นชัดว่า การใช้เยาวชน-คนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนแสดงออกกับขบวนการสามนิ้วในการยืนสู้กับสามข้อเรียกร้องที่ดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว-วันนี้นั้น สังคมตระหนักกันบ้างแล้วว่า การขยับของวัยรุ่นเลือดร้อนในหลากวาระนั้น ดำเนินการอยู่ในขอบเขต-เกินกว่าขอบเขตเพียงใด...

 

หลายคนต้องรับโทษทัณฑ์เพราะกระทำการล้ำเส้น (ตัวอย่างล่าสุดคือผู้ถูกจับกุมในการชุมนุมที่แยกดินแดง)  บ่อยครั้งจะได้ยินความในใจของผู้ที่รับโทษทางกฎหมาย เปิดเผยว่า " ดำเนินการไปเพราะความคะนอง-ความไม่รู้-หลงเชื่อข่าวสารบางด้านในสังคมออนไลน์-ต่อต้านอำนาจรัฐเพราะมีที่มาโดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องอารยะขัดขืน-ไม่ชอบรัฐบาลและบริหารบ้านเมืองผิดพลาด เรียกร้องให้ลาออกก็ไม่ไป จึงต้องมาขับไล่ ฯลฯ"

 

ข้อเขียนนี้ไม่ได้โจมตีการเคลื่อนไหวที่มีเจตนาบริสุทธิ์ของคนรุ่นใหม่ แต่ขอเจริญสติว่า "หากยังสู้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ก็ขออนุโมทนา แต่ขอให้ศึกษาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ให้ถี่ถ้วน  ศึกษากฎกติกาการเคลื่อนไหวให้แน่ชัด และอย่าหลงกลตกเป็นเครื่องมือของใคร...ที่ชักใยหลังม่าน เพราะสุดท้ายคนที่ลงมือคือผู้รับกรรมในขั้นต้น"

 

หากใครบางคนอ้างว่าบางประเทศให้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองและอนุญาตให้ใช้ธงชาติไปเป็นสัญลักษณ์ต่างๆนานาได้ ไทยแลนด์ก็ควรยึดหลักนั้นมาใช้  อันนี้ก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมจารีตและธรรมเนียมของสังคมในแต่ละประเทศด้วยว่า มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง...

 

สมมติว่า นาย A จากประเทศ  B สามารถใช้ธงชาติของประเทศตัวเองในกิจกรรมต่างๆโดยกฎหมายอนุญาตได้ในพื้นที่ของตัวเอง แต่หากนายA มากระทำการอันไม่เหมาะสมกับธงชาติไทยและกฎหมายไทยระบุฐานความผิดไว้ชัด นายA จะอ้างความคุ้นชินกับหลักปฏิบัติการใช้ธงชาติของประเทศB มากล่าวอ้างการกระทำนั้นๆในเมืองไทยมิได้

 

เฉกเช่นกัน หากนายBจากไทยแลนด์ไปกระทำการอันไม่สมควรต่อธงชาติของประเทศC ก็ย่อมโดนลงโทษตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ แล้วจะอ้างว่า สิ่งที่นายB กระทำไปนั้น กฎหมายไทยไม่ถือเป็นความผิด แต่ประเทศC ถือว่ามีความผิด ฐานหลบหลู่ดูหมิ่นเกียรติยศศักดิ์ศรีและอำนาจอธิปไตยของชนชาตินั้นๆ

 

และอีกมุมหนึ่งนั้น  หลายประเทศในโลกรวมทั้งเมืองไทยก็ใช้ธงชาติในการสรรเสริญ-สดุดีวีรกรรมของผู้ที่เสียสละและทำชื่อเสียงให้บ้านเมือง  และคงไม่ยินยอมให้ธงชาติของชาติตนเองต้องแปดเปื้อนไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม

 

หรือแม้แต่ถิ่นแดนอันห่างไกลจนยากที่กฎหมายของแต่ละชาติจะเข้าไปบังคับใช้ พื้นที่เหล่านั้นมีชนกลุ่มน้อยที่มีจารีตระเบียบปฏิบัติเป็นของพวกเขาเอง หากผู้มาเยือนมิได้กระทำตาม บทลงโทษที่อาจจะขัดกับหลักสากลจะถูกใช้บังคับ และเรียกร้องความยุติธรรรมไม่ได้ เพราะผู้มาเยือนฝ่าฝืนเอง

 

โหน 45 ปี \"6ตุลา\" เยาวรุ่น คิด-วิเคราะห์-เเยกเเยะ ให้จงหนัก

 

เฉกเช่นเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในวันนี้ (6 ต.ค.64 ) ที่เยาวชนบางคนฝ่าฝืนการดูแลความปลอดภัยและระเบียบของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อันเชิญธงชาติไทยลงจากยอดโดมแล้วชัดธงแดงขึ้นมาแทนนั้น  ไม่ใช่สิ่งที่ดีและส่อว่ามีความผิดต่อกฎหมายกับการดำเนินการในคราวนี้  

 

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ยินยอมให้การกระทำกับธงไตรรงค์    ดังนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำของการชุมนุมบางส่วนควรต้องมีสปิริตในการแสดงความรับผิดชอบกับกรณีวันนี้

 

กลุ่มเยาวชนจำนวนหนึ่งกระทำการปลดธงชาติไทยและนำธงของกลุ่มตัวเองขึ้นไปชักขึ้นสู่เสาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

และอย่าลืมว่าถิ่นเหลือง-แดง มักมีการกระทำที่ละเมิดกับธงชาติไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยผู้ที่กระทำความผิด อาทิ ปลายปี 2556 นายศรัณย์ ฉุยฉายหรือ "อั้ม เนโกะ"  พยายามชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ถึงการประกาศปิดการเรียนการสอน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวาย แต่สุดท้ายก็หลบหนีไปต่างประเทศ

 

มีนาคม 2563 นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายหนึ่ง ได้นำผ้าสีดำชักขึ้นแทนธงชาติ บริเวณหน้าตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

โดยอ้างว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จัดกิจกรรมแฟลชม็อบต่อต้านเผด็จการ

 

มกราคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ( United Front of Thammasat and Demonstration) ก็ดำเนินการชักผ้าสีแดงซึ่งมีเลข 112 ขึ้นสู่ยอดเสา

 

เหตุการณ์เหล่านี้ในห้วงที่ผ่านมา มันทำให้การเคลื่อนไหวติดลบไปโดนพลัน....

 

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่หวังจะปฏิรูปบ้านเมืองให้ศิวิไลย์ขึ้นตามความฝัน ขอให้เจริญสติว่า"คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ"ให้จงหนักกับบทบาทที่จะเคลื่อนไหว-ศึกษาตัวบทกฎหมายให้ดี-คำนึงถึงความห่วงใยจากผู้ปกครองและพินิจให้รอบด้านกับอนาคตของตัวเองหากจะออกไปต่อสู้

 

....โปรดอ่าน....


“คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย” สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลไว้ว่า

 

• พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522

- มาตรา 53 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อาทิ ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีของธง อันมีลักษณะโดย ไม่สมควรต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ


- มาตรา 54 ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎของกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

• กฎหมายอาญา มาตรา 118 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธงชาติมีความสำคัญมาก เราจึงควรรู้เกี่ยวกับการใช้หรือประดับธงชาติ ที่ถูกต้อง เพื่อที่เราจะได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติได้อย่างถูกต้องและเต็มภาคภูมิ