"ราชกิจจานุเบกษา" เปิดระเบียบสำนักนายกฯขอพระราชทาน"เครื่องราชฯ" ฉบับใหม่ ว่าด้วย “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยพ.ศ. 2564”
"ราชกิจจานุเบกษา"ได้เผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกฯ ในการขอ"พระราชทานเครื่องราชฯ" ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยเป็นการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชฯตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ซึ่งจะเป็นการกำหนดนิยามบุคคล องค์กรในการขอพิจารณาขอ"พระราชทานเครื่องราชฯ" รวมถึง"ผู้ช่วยรัฐมนตรี"ด้วย พร้อมกับยกเลิกบัญชี"คู่สมรส" และเพิ่มคุณสมบัติต้องห้าม ถูกไต่สวนคดีทุจริต
8 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยพ.ศ. 2564
มีสาระสำคัญว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ได้บัญญัติไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน ซึ่งนอกจากการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแล้ว รัฐบาลได้วางระเบียบในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นหลักเกณฑ์กลั่นกรองให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างแท้จริงเพื่อประกอบพระราชดำริอีกทางหนึ่ง
ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้ใช้บังคับมาระยะหนึ่ง สมควรปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยพ.ศ. 2564”
ข้อ2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ๓ ให้ยกเลิก (1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536
(2) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 33 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยพ.ศ. 2536 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549
(3) ระเบียบสำนักนำยกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552
ข้อ4 ในระเบียบนี้ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” หมายความว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยแล้วแต่กรณี
“ข้าราชการการเมือง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นหรือถือว่าเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองหรือกฎหมายอื่น
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ยกเว้นข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นด้วย
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง ส่วนราชการระดับกรมที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด องค์กรอิสระตาม กฎหมายกรุงเทพมหานคร และให้หมายความรวมถึงสภากาชาดไทยด้วย
“องค์กรอิสระตามกฎหมาย” หมายความถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์การของรัฐที่เป็นอิสระ
“ผู้ช่วยรัฐมนตรี” หมายความถึง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
ข้อ5 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งรวมทั้งบุคคลที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ยกเว้นส่วนราชการในพระองค์ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์
ที่น่าสนใจ ยังได้กำหนดเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามขอพระราชทานเครื่องราชฯ์ ตามข้อ 12 บุคคลที่พึงได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะต้องมาคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้ประพฤติดี และปฏิบัติงานราชการหรือปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ต่อหน้าที่อย่างดียิ่ง
3.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในบัญชีท้ายระเบียบนี้
4.เป็นผู้ไม่เคยมีพระบรมราชโองการหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เว้นแต่ได้รับพระราชทานคืนในภายหลัง
5.เป็นผู้ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาว่า
(ก) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรืออยู่ระหว่างพิจารณาโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
(ข) กระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาล หรือได้มีคำพิพากษาแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีนั้น หรือเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว
(ค) กระทำความผิดและอยู่ระหว่างการไต่สวนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรืออยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ การขอพระราชทานเครื่องราชฯที่ปรากฏตามบัญชีแนบท้ายในระเบียบนี้มีทั้งสิ้น 32 บัญชี เช่น การขอพระราชทานเครื่องราชฯให้แก่รัฐมนตรี, ข้าราชการการเมือง ผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย กรรมการประประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการประสานงานวุฒิสภา, ผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภา, ข้าราชการการเมืองในกรุงเทพมหานคร, สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม บัญชีแนบท้ายในระเบียบนี้ ไม่ปรากฏบัญชีที่เกี่ยวข้องกับผู้สมรส ซึ่งเคยกำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกฯฉบับปีที่ผ่านมา
คลิกอ่าน... ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชฯ ฉบับสมบูรณ์และตรวจบัญชีแนบท้าย ได้ที่นี่ .....