หญิงโคลอมเบียขอใช้สิทธิ "การุณยฆาต" คนแรกที่ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
หญิงชาวโคลอมเบีย อาศัยกฎหมาย การุณยฆาต ขอยุติความทรมานจากโรคไม่มีทางรักษาในวันนี้ (10 ต.ค.) แม้ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เรื่องราวของ มาร์ทา เซปุลเบดา กัมโป (Martha Sepúlveda Campo) สตรีชาวโคลอมเบียวัย 51 ปี เป็นที่กล่าวขานอย่างมากในโลกออนไลน์ เนื่องจากเธอเป็นผู้ป่วยที่ยังไม่ได้อยู่ในระยะสุดท้ายรายแรก ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับการการุณยฆาตได้ โดยกำหนดวันจบชีวิตตนเองก็คือ เวลา 7.00 น. วันนี้ ( 10 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น
กัมโป เริ่มป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( Amyotrophic Lateral Sclerosis ) หรือ ALS ในเดือนพ.ย. 2561 อาการของเธอทรุดลงเรื่อยมา จนเวลานี้ เดินเองไม่ได้แล้วหากไม่มีคนช่วยเหลือ เธอยื่นคำร้องขออนุญาตจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ราว 4 วันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบีย ขยายสิทธิขอรับการุณยฆาตครอบคลุมผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากทางใจและกายอย่างแสนสาหัส จากอาการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงและไม่มีหนทางรักษา คำร้องของกัมโป ได้รับอนุมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค. กลายเป็นผู้ป่วยรายแรกในโคลอมเบีย ที่จะเข้ารับการุณยฆาตโดยไม่ได้ป่วยระยะสุดท้าย
ALS เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อลีบ ทั้งยังมีปัญหากับการพูด การเคี้ยว การกลืนอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย และการหายใจ อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ (อ้างอิงเวบไซต์ pobpad )
“ตั้งแต่ผ่านการอนุมัติ ฉันนิ่งกว่าเดิม หัวเราะได้มากขึ้น หลับสบายกว่าเดิมอีก” กัมโป ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Noticias Caracol และว่าเหตุที่เลือกวันอาทิตย์ในการจากไป เพราะเป็นวันเดียวกับวันที่เธอไปโบสถ์
โคลอมเบียเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกา ที่ปลดล็อกการุณยฆาต ในปี 2540 ทั้งยังเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่มีกฎหมายรองรับกระบวนการนี้ กระนั้น แต่เดิมก็อนุญาตให้เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ก่อนเพิ่งปรับแก้เมื่อเดือนกรกฎาคม
ญาติบางคนของกัมโปไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ยกเหตุผลทางศาสนา ขณะที่ลูกชายของเธอ เฟเดอริโก เรดอนโด เซปุลเบดา วัย 22 ปี เคารพและเข้าใจการตัดสินใจของแม่ และพยายามใช้เวลาด้วยกันในช่วงสุดท้ายอย่างดีที่สุด
อีกด้าน การเลือกจบชีวิตตนเองของกัมโป ก็จุดกระแสวิจารณ์ไม่น้อยในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์โรมันแคธอลิก เพราะสำหรับคริสตจักรแล้ว การุณยฆาต คือความผิดร้ายแรง
กัมโปเองเป็นคริสต์แคธอลิกและเคร่งศาสนา ทราบดีถึงกระแสต่อต้าน และได้หารือเรื่องนี้กับบาทหลวงหลายคน กระนั้น เธอเชื่อว่าพระเจ้าไม่ต้องการเห็นเธอต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย และอนุญาตกับเส้นทางที่เธอเลือก “ฉันเชื่อว่าไม่มีใคร ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกของตนเองทรมาน ในภาวะที่ฉันเป็น เรื่องดีที่สุดที่ทำให้เกิดขึ้นได้สำหรับเธอก็คือการพัก”
ขณะให้สัมภาษณ์ กัมโป ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยเล่นกับลูกชาย และดื่มเบียร์ด้วยกัน
โคลอมเบีย ประกาศให้การกระทำการุณยฆาตสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ใช่อาชญากรรมในปี 2540 ผู้ป่วยสามารถยื่นคำร้องโดยสมัครใจ และแพทย์ดำเนินการให้ แต่รัฐบาลเพิ่งออกระเบียบมารองรับ เมื่อ 20 เมษายน 2558 นับแต่นั้นมา มีการการุณยฆาตให้กับผู้ป่วย 157 ราย (เฉพาะปีนี้ 26 ราย) สถิติพบว่า คำร้องขอการุณยฆาตทุก 5 คำร้อง ผ่านการอนุมัติเพียง 2 ราย
ผลสำรวจความเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม พบชาวโคลอมเบียราว 72% สนับสนุนการุณยฆาต เปอร์เซ็นต์สนับสนุนยิ่งสูงในเมืองใหญ่ๆของประเทศ
ผู้ป่วยที่ขอจบชีวิตตนเองรายแรกในประเทศ คือ โอบีดีโอ กอนซาเลซ คอร์เรีย วัย 79 ปี ที่ใบหน้าเสียโฉมจากเนื้องอก และกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิขอตายอย่างมีศักดิ์ศรี มาถึงเวลานี้ มาร์ทา เซปุลเบดา กัมโป ก็กำลังจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่การขอตายด้วยการุณยฆาตโดยไม่ได้ป่วยระยะสุดท้าย
ต่อคำถามที่ว่า มีบางคนคิดว่า เธอควรต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ แทนร้องขอความตายแบบมีคนช่วยเหลือ กัมโป กล่าวว่า เธอผ่านการต่อสู้ที่ว่านี้มาแล้ว “ฉันอาจจะเป็นคนขี้ขลาด แต่ไม่อยากทรมานอีกต่อไป ถ้าต้องดิ้นรนต่อสู้ ฉันขอสู้เพื่อที่จะพักตลอดไป”
อัปเดต 11 ต.ค.64
Instituto Colombiano del Dolor คลินิกที่กัมโปเตรียมเข้ารับการุณยฆาต กลับลำ ไม่ดำเนินการช่วยจบชีวิตให้กับเธอ โดยให้เหตุผลว่าไม่เข้าเงื่อนไข และยังไม่ชัดเจนว่าครอบครัวของเธอ จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิจบชีวิตหรือไม่
ที่มา ibtimes NBC Daily Mail ภาพ noticias-telemundo