ข่าว

พายุเข้าไทย 3 ลูก "เสรี ศุภราทิตย์" เผยพฤติกรรมน้ำเปลี่ยน "เฝ้าระวังสูงสุด"

พายุเข้าไทย 3 ลูก "เสรี ศุภราทิตย์" เผยพฤติกรรมน้ำเปลี่ยน "เฝ้าระวังสูงสุด"

10 ต.ค. 2564

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ "เสรี ศุภราทิตย์" เผยพฤติกรรมน้ำหลาก พบระดับน้ำในหลายพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นใกล้เคียงกันหรือมากกว่า อยู่ในระดับอันตราย เข้าตาม"ทฤษฏีน้ำล้นแก้ว" เตือนผลกระทบพายุ เข้าไทย 3 ลูกกำลังมา"เฝ้าระวังสูงสุด" 11-18 ต.ค. นี้

"เสรี ศุภราทิตย์"  และคณะ ลงพื้นที่สำรวจสถานการณน้ำ พบพฤติกรรม "น้ำหลาก" เข้าตามทฤษฏี "น้ำล้นแก้ว"  เตือนให้ "เฝ้าระวังสูงสุด" จากอิทธิพลของ พายุเข้าไทย 3 ลูก ในช่วงระหว่างวันที่ 11-18 ต.ค.นี้  (พายุไลอ้อนร็อค : Lionrock  , พายุคมปาซุ : Kompasu ,  พายุดีเปรสชั่น : ญี่ปุ่นยังไม่ตั้งชื่อ)

 

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 64  "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ บรรยายให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยตั้งข้อสังเกต "พายุ 3 ลูกกำลังมา อะไรจะเกิดขึ้น" 

 

"รศ.ดร.เสรี"  ระบุว่า "พายุ 3 ลูกกำลังมา อะไรจะเกิดขึ้น ? ผมกับทีมงานลงพื้นที่น้ำท่วมภาคกลางมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะนี้แนวโน้มปริมาณน้ำเหนืออาจจะจะลดลง

 

ภาพการนำเสนอสถานการณ์น้ำปี 64 ตามทฤษฏีน้ำล้นแก้ว ของทีมวิจัย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

ผมค้นพบพฤติกรรมน้ำหลากที่น่าสนใจ กล่าวคือ ปริมาณน้ำเหนือในปีนี้แม้ว่าจะน้อยกว่าปี 2554 (เนื่องจากปริมาณฝนสะสมในภาคเหนือน้อยกว่าประมาณ 20%) แต่ระดับน้ำในหลายพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นใกล้เคียงกัน หรือมากกว่า อยู่ในระดับอันตรายโดยดัชนีความเข้มน้ำท่วม (Flood intensity) เป็นไปตาม “ทฤษฎีน้ำล้นแก้ว”

 

ซึ่งเกิดจากการยกระดับถนน และมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ การถมดินสิ่งก่อสร้างต่างๆ การบีบแม่น้ำ ลำคลองหลายสาย การแย่งที่น้ำอยู่ แต่ละเลยการประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของพฤติกรรมน้ำหลากในลุ่มน้ำ เมื่อระดับน้ำถูกยกให้สูงขึ้น จึงมีแรงดันสูงขึ้น ส่งผลให้คันกั้นน้ำแตกเกิดปรากฏการณ์ “Domino effect” (อ.ไชโย  อ.ปากโมก ต.โผงเผง จ.อ่างทอง อ.บางบาล ระดับน้ำสูงบริเวณเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น) เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน และระหว่างชุมชนด้วยกันเอง

## แล้วจะเกิดอะไรขึ้นจากพายุ 3 ลูกนี้ (Lionrock, Kompasu, Low pressure/Depression)

 

ผมได้ประเมินภาพรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าจะมีปริมาณฝนสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ150-200 มม (ตั้งแต่วันที่ 11-18 ตุลาคม) ซึ่งจะส่งผลให้มีระดับน้ำสูงขึ้น < 0.50 m ความเสี่ยงจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ที่มีน้ำเต็มเขื่อน) อาจต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น

 

ภาพถ่ายทางอากาศประเมินน้ำหลากจากพายุ 3ลูก ในช่วง 11-18 ต.ค.นี้

ดังนั้นชุมชนที่อยู่ริมน้ำ หรือที่ท่วมอยู่แล้วจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.อ่างทอง จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี (ดูเฉดสีส้ม) แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อคันกั้นน้ำพื้นที่ กทม.(แต่ควรระวังน้ำท่วมรอการระบาย)

 

พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด ที่ปริมาณฝนสะสมอาจจะเพิ่มมากกว่า 200 มม เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ (ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างประมาณวันที่ 13-18 ต.ค.) ภาคตะวันออก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ต.ค.) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ต.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลางหลายอ่างฯ ที่มีความจุใกล้เต็ม คันกั้นน้ำที่มีความเปราะบางหลายจุด จึงควรต้องเฝ้าระวังสูงสุด !!!

พายุเข้าไทย 3 ลูก \"เสรี ศุภราทิตย์\" เผยพฤติกรรมน้ำเปลี่ยน \"เฝ้าระวังสูงสุด\"

สัปดาห์หน้าทั้งสัปดาห์มีฝนตกหนักหลายพื้นที่น่ะครับ วางแผนการเดินทางด้วยครับ ผมไม่มีเวลาประเมินรายพื้นที่ แต่ถ้าพื้นที่ใดซึ่งมีความเสี่ยงสูงจะพยายามเรียนให้ทราบทันทีครับ อนึ่งยังไม่หมดฤดูพายุ โปรดติดตามตอนต่อไปน่ะครับ ?