พระอัจฉริยภาพ "ร.9" ทรงสรรค์สร้าง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" เพื่อพสกนิกร
เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี "วันคล้ายวันสววรคต ร.9" 13 ต.ค. 2564 "คมชัดลึก" ขอน้อมนำ "พระอัจฉริยภาพ" ที่พระองค์ทรงสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก คือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ ทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย"
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา และได้ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ พระองค์จึงทรงประดิษฐ์คิดค้น เรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนา และการแก้ปัญหาด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จนทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็น “วันนักประดิษฐ์” ของทุกปี
สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์คือ เครื่องกลเติมอากาศ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา โดยหลักเป็นเครื่องกลเติมอากาศ ที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำ
ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากภาวะมลพิษของน้ำเน่าเสีย ที่มีปริมาณสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้ ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของพสกนิกรทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสีย ในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย
ในการนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสีย ร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายทั่วประเทศในปัจจุบัน คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย
หลักการทำงานเครื่องกลเติมอากาศ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" แบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ตามระดับขึ้นลงของน้ำ ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ โครงกังหันน้ำรูป 12 เหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร มีซองตักน้ำขนาดบรรจุ 110 ลิตร ติดตั้งโดยรอบ จำนวน 6 ซอง เจาะรูซองน้ำพรุน เพื่อให้น้ำไหลกระจายใต้น้ำ สามารถผลักดันน้ำให้เคลื่อนที่ ผสมผสานออกซิเจนเข้ากับน้ำ ในระดับความลึกใต้ผิวน้ำเป็นอย่างดีอีกด้วย จึงก่อให้เกิดกระบวนการทั้งการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสานและการทำให้เกิดการไหลของน้ำเสีย ไปตามทิศทางที่กำหนดโดยพร้อมกัน
กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นกังหันบำบัดน้ำเสีย "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย" เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชนทำงานโดย การหมุนปั่น เพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสีย จากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจน ให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตรอีกด้วย
ความคิดในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาช่วยประชาชน จึงได้เห็นสิ่งประดิษฐ์อีกมากมาย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยดีขึ้น
ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และศิลปกรรม ตลอดจนหัตถกรรมงานช่าง อันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก