"รัชกาลที่ 9" บิดาแห่ง "วิศวกรรมจราจร" ผู้ทรงดำริก่อสร้างถนนแทนอนุสาวรีย์
น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ "รัชกาลที่ 9" ผู้ทรงเป็นบิดาแห่ง "วิศวกรรมจราจร" จากพระราชดำริ ให้ก่อสร้างถนนแทนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ ให้เหล่าพสกนิกรได้สัญจรอย่างสะดวก
ย้อนกลับไปประมาณ 50 กว่าปี ใครจะรู้ว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร จะสาหัสเหมือนปัจจุบัน แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล และมองปัญหาออกอย่างทะลุรอบด้าน ว่าต่อไปในอนาคต เส้นทางสัญจร ถนนหนทางในบ้านเรา จะต้องได้รับการพัฒนา และทำให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนในพื้นที่ต่างจังหวัด และสร้างโครงข่ายถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำริที่ว่า การจะให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานก่อน ในช่วงทศวรรษแรก ๆ แห่งรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ทางหลวงเชื่อมกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ ยังมีไม่มากมายและกว้างขวาง สะดวกสบายดังเช่นในปัจจุบัน ทางหลวงสายหลักคงมีเพียงถนนพหลโยธิน ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ สู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนเพชรเกษมจากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ และถนนสุขุมวิทที่มุ่งสู่ภาคตะวันออก และทางหลวงสายแรกของไทย ที่ก่อสร้างอย่างถูกต้องตามแบบมาตรฐานสากลในทุกขั้นตอนเป็นครั้งแรก ได้เกิดขึ้นในตอนต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
สำหรับโครงการแก้ปัญหาจราจรโครงการแรก คือ โครงการถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ซึ่งถือว่าเป็นถนนวงแหวนแห่งแรกที่พระองค์ทรงดำริให้สร้างทดแทนการสร้างอนุสาวรีย์ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ท่านทรงครองราชย์ครบ 25 ปี ในพ.ศ.2513 แต่พระองค์ท่านได้ตรัสกับคณะที่ถวายงานว่า
" ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน..."
ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดโครงการแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรีขึ้นเป็นโครงการแรกในปี พ.ศ. 2514 เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญให้กับประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชนุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งต่อมาถูกใช้เป็นชื่อถนน "รัชดาภิเษก" จนถึงปัจจุบันนี้
โดยปัจจุบัน ถนนวงแหวนรัชดา เป็นถนนวงแหวนชั้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร โดยตลอดเส้นทางจะมีทั้งอุโมงค์รอดทางแยก สะพานข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ประชาชนสามารถสัญจรข้ามไป-มา ระหว่างฝั่งกรุงเทพและฝั่งธนบุรี โดยที่ไม่ต้องติดไฟแดง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างดี
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎร ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนายเฉลียว วัชรพุกก์ อธิบดีกรมทางหลวงในสมัยนั้น กล่าวไว้ในหนังสือ "คือเส้นทางสร้างชาติไทย 84 ปี กรมทางหลวง" ว่า
รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริแนะนำแนวทางสายหนึ่งที่ควรจะก่อสร้าง และมีบางตอนเป็นที่ลุ่มแต่ถมดินคันทางได้ นั่นคือ ทางสายอำเภอรามัน- บ้านดาโต๊ะหะลอ-อำเภอรือเสาะ และพระองค์ทรงรอบรู้ภูมิประเทศบริเวณนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งนายเฉลียวได้กราบบังคมทูลว่า สภาพทางยังเป็นทาง ก่อสร้างอยู่ และได้จัดให้เข้าอยู่ในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก ขณะนี้ได้ใส่ลูกรังไว้แล้ว รถยนต์วิ่งผ่านได้ตลอดปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รับสั่ง ว่า "เห็นมีแต่หลานรังเท่านั้น"
ครั้งนั้นนายเฉลียว เล่าว่า รู้สึกงงมาก นึกไม่ออกว่าคำว่าหลานรังคืออะไร แต่ต่อมาก็นึกได้ว่า แม่รัง หมายถึงลูกรัง ก้อนใหญ่ และลูกรัง คือ ลูกรังขนาดเล็กขนาดต่าง ๆ คละกัน ดังนั้น คำว่า หลานรัง คงหมายความถึงลูกรังที่มีขนาดละเอียดมากนั่นเอง และทางคงจะลื่นมาก หรือติดหล่มเวลาฝนตกหนัก ต่อมานายเฉลียวได้กราบบังคมทูลว่า ได้เลือกลูกรังที่ดีไปใส่เพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ทางลื่น แต่จะไม่ลงทุน ทำดีมากนัก เพราะมีโครงการจะสร้างเป็นถนนลาดยางอยู่แล้ว
ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านวิศกรรมจราจร และสายพระเนตรอันยาวไกล จึงทำให้ทุกวันนี้ เหล่าพสกนิกรได้เดินทางสัญจร ทำการค้าขายระหว่างจังหวัด ไปมาหาสู่หญาติพี่น้อง ครอบครัว ได้อย่างสะดวกตราบจนทุกวันนี้
ที่มา: กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม