“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” 1ใน3วาระเร่งด่วน ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
3 วาระเร่งด่วน ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” คือหัวใจต้องพัฒนาจัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ผู้เรียนทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
มีทั้งเสียงหนุนและเสียงต้าน และเรียกร้องขอมีส่วนร่วม ก่อนกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะประกาศใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ในสถานศึกษาทั่วประเทศ เมื่อมีประแสวิพากษ์วิจารณฺเรื่องนี้กันมาก เป็นหน้าที่ของศธ. และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาศึกษา ทบทวนนโยบายของรัฐบาล และแผนการปฏิ รูปประเทศด้านการศึกษา
ตามนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564ในหน้า 305-308) ให้ดี
ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยเฉพาะทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล-ม.6) ของประเทศไทยนั้น เน้นไปที่การจัดการเรียนการสอน(หลักสูตรระดับชั้นเรียน) มากกว่าที่จะพัฒนาหลักสูตร(ระดับชาติ) รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล
โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านการศึกษา ได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า ในการดำเนินการ “ด้านการศึกษา” ของประเทศ มีนโยบายทางการศึกษาที่สำคัญเร่งด่วนไว้ 3 ประการคือ
1.ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียน เน้นการเรียนรู้การคิดขั้นสูงเชิงระบบ (Active learning)
2.ยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นตามบริบทท้องถิ่น
3.สร้างความมีเอกภาพด้านนโยบายของการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุนความหลากหลายในการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงระดับพื้นที่ โรงเรียน และห้องเรียน ให้ผู้เรียนมีโอกาสรับการศึกษาที่สอดคล้องกับความถนัด และตามความสามารถของตนเอง สามารถเรียนรู้ควบคู่การทำงาน ผลิตผลงาน พึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงวัยตลอดชีวิต
ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ระบุไว้ว่า เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ผู้เรียนใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย
โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)
มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ คือ 1) พัฒนาผู้เรียน 2) พัฒนาครู/อาจารย์ 3) พัฒนาผู้บริหารถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์
โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้ 5 ประการ อันรวมถึงการนำหลักสูตรระดับชาติที่ใช้ในปัจจุบัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551) ไปจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรชั้นเรียน ที่ตอบสนองต่อความสนใจและความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งแต่ละสถานศึกษาและครูแต่ละคนจะต้องไปจัดทำหลักสูตรเอาเอง
อย่างไรก็ดี ตามที่ทราบกันว่ากระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรที่ใช้ปัจจุบัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551) ให้เป็น "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" นั้น จะใช้ชื่ออะไรไม่สำคัญ เพราะหลักสูตรทุกหลักสูตรมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ) ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน ก็เป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะเช่นเดียวกัน ทั้งยังได้เน้นสมรรถนะตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (specific competency) และสมรรถนะหลัก(สำคัญ)(core competency) อีก 5 ประการด้วย คือการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และเทคโนโลยี