"รัชกาลที่ 9" พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม- คุณูปการลูกหนังไทย
ฟุตบอลไทย ก้าวสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในรัชสมัยของในหลวง"รัชกาลที่ 9" ด้วยการมีพระราชหฤทัยต่อกีฬาฟุตบอล นี่จึงเป็นการวางรากฐานและขับเคลื่อนให้ฟุตบอลไทย มีรากฐานที่มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
พลเอกประเทียบ เทศวิศาล อดีตสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวไว้ในหนังสือ พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม ถึงในหลวง"รัชกาลที่ 9" ว่า "พระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามผลการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยอยู่เสมอด้วยวิทยุคลื่นสั้น ทรงมีพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับการบริหาร ฝึกซ้อมและวิธีการเล่นของนักฟุตบอลอย่างน้ำใจนักกีฬา ทรงมีความเข้าพระทัยศาสตร์และศิลป์ของกีฬาฟุตบอลอย่างลึกซึ้ง"
ส่วนพระบรมราโชวาท ในหลวง "รัชกาลที่ 9" พระราชทานแก่คณะนักฟุตบอลทีมชาติไทย ( 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ) ดังนี้ "แต่ก็มีบางอย่าง ที่จะทำให้กีฬาฟุตบอลของไทยเรา มีการลงบ้างเหมือนกัน เพราะว่าการกีฬานั้น จะต้องมีการฝึกซ้อมให้ดี ทั้งในทางวิชาการ คือเทคนิค และทั้งในทางกาย คือความแข็งแรงสมบูรณ์ การฝึกตนให้มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง ถ้าขาดทั้งสองอย่างนี้ ก็จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภาระของตัวให้ได้ชัยชนะได้..."
"ถ้าได้ฝึกฝนด้วยตนเองได้ฝึกดีและได้เตรียมตัว เตรียมกายของตัวให้ดีแล้ว ก็ย่อมสามารถฟันผ่าอุปสรรคได้ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องแปลกใจจะต้องปราชัย..."
เนื้อหาข้างต้นคือสิ่งที่สะท้อนได้ถึง การมีพระราชหฤทัยต่อกีฬาฟุตบอล ของในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวสำหรับ "ฟุตบอล" เป็นกีฬาที่แพร่หลายในประเทศไทยมายาวนาน แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นอาณานิคมสหราชอาณาจักรเหมือนเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ และมาเลเซีย ที่ทำให้ "ฟุตบอล" ถูกชาวอังกฤษนำมาเผยแพร่ จนคนท้องถิ่นคุ้นเคย
แต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรส ,เชื้อพระวงศ์ กระทั่งบุตรหลานขุนนางไปเรียนต่อในยุโรป และมีหลายคนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ นักเรียนไทยเหล่านั้นก็ได้รู้จัก "ฟุตบอล" ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมในอังกฤษ
ในปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีบันทึกว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้นำกีฬาฟุตบอล เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยาย กว้างขวางไปทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยามขึ้น โดยพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันด้วย
บันทึกของสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการในแผ่นดินสยาม เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2443 ระหว่างทีมบางกอก อันเป็นทีมชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามประเทศ กับทีมศึกษาธิการ ที่ท้องสนามหลวง
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ถือว่า "ประเทศสยาม" ได้จัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมชาติสยาม กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน
10 ปีต่อมา คือในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 6 ) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก โดยคณะกรรมการหรือสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน มีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นนายกสภาฯ
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงพระราชทาน "ถ้วยทองหลวง" ให้วงการฟุตบอลไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กันนยายน พ.ศ.2458 และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง "สภานายกฟุตบอลถ้วยทอง" ตลอดรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. 2458-2468)
ถัดจากนั้น ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2468 สมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และเมื่อ "ประเทศสยาม" เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2482 สมาคมฯจึงเปลี่ยนชื่อเป็น " สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย" และทีมชาติก็ถูกเรียกเป็น"ทีมชาติไทย"
ผ่านมาจนถึงสมัย"รัชกาลที่ 9" จึงถือเป็น " ยุคทอง"ของฟุตบอลไทย โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทย ลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2499
12 ปีต่อมา คือปี 2511 ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย สามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ที่ประเทศเม็กซิโก และเป็นครั้งล่าสุดที่ทีมชาติไทยได้ไปแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่นี้
การได้ไปแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้น ถือเป็น ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลไทย ทำให้การประชุมสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค เป็นนายกสมาคม ได้มีมติให้ดำเนินการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติขึ้น โดยมี 5 วัตถุประสงค์ คือ
1.เทิดทูนพระเกียรติบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 9 )
2 กระชับสัมพันธ์ภาพกับนานาชาติในเครือสมาชิก
3.ยกระดับมาตรฐานกีฬาฟุตบอล
4.เผยแพร่ความนิยมกีฬาฟุตบอลแก่นักกีฬา และประชาชน
5.หารายได้ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
จากมติดังกล่าว สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีหนังสือถึงราชเลขาธิการขอให้ความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณาธิคุณขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดำเนินการจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพขึ้นในปลายปี 2511
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงทราบใต้เบื้องพระยุคลบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตพร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับเป็นรางวัลแก่ชุดชนะเลิศในการแข่งขัน ถ้วยพระราชทานนี้จะไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ชุดฟุตบอลใด แต่จะต้องมีการแข่งขันชิงความชนะเลิศเป็นประจำปี
ฟุตบอลคิงส์คัพ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2511 และยังคงจัดการแข่งขันอยู่จนถึงปัจจุบัน ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลประเภทเดียวกันในประเทศต่างๆในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือกระทั่งปาร์คจุงฮีคัพของเกาหลี ก็เลิกการแข่งขันไป ขณะที่ "คิงส์คัพ"ของไทย ยังจัดจนถึงปัจจุบัน
"คิงส์คัพ" หรือฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ถือเป็น "เวทีแจ้งเกิด"ของนักฟุตบอลไทยและต่างชาติมากมาย เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วงการฟุตบอลเอเชียถือว่า "คิงส์คัพ" คือการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ นักเตะมากมายหลายคนหลายชาติ ต่างก็มา "แจ้งเกิด"ในวงการลูกหนังโลกในรายการนี้มากมาย อาทิ ดาราเอเชีย
อย่าง สุจิ๊ปโต้, อับดุลการ์ดี้, อิสวาดี้ ยอดนักเตะอินโดนีเซีย อารูมูกัม นายทวารจอมหนึบจากมาเลเซีย รวมทั้งเพื่อนร่วมชาติอย่าง โช ชิน อัน, ซันโต๊ค ซิงห์, ม็อคตาร์ ดาฮารี, ไซนัล อาบีดีน ที่เคยนำ"เสือเหลือง"มาคว้าถ้วยพระราชทานนี้ในไทย
ขณะที่"เกาหลีใต้" ก่อนจะขึ้นมาเป็นทีมฟุตบอลเบอร์ต้นๆของเอเชีย ก็ใช้ "คิงส์คัพ" เป็นสนามการเรียนรู้และทดสอบนักเตะก่อนจะก้าวไปสู่ระดับโลก โดยนักเตะโสมขาวที่คนไทยรู้จักดีจากรายการนี้ก็มี “ไอ้หน้าแดง” ลี แฮเต็ก หรือ ชา บุม กุน ที่ไปโด่งดังในบุนเดสลีกาที่เยอรมัน ในยุคนั้น
ขณะที่นักเตะระดับโลก ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ หลายคนก็เคยมาร่วมแข่งขัน "คิงส์คัพ” อย่าง เดนมาร์ก ที่ส่งทีมชุด "ปรีโอลิมปิก" มาแข่งขันศึกชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 19 เมื่อปี 2531 ก็มีนักเตะที่กลายเป็นนักเตะระดับโลก เช่น ปีเตอร์ ชไมเคิล ยอดนายทวาร ที่เพื่อนร่วมทีมก็ล้วนเติบโตเป็นนักเตะดัง เช่น เจสเปอร์ โอลเซน, ไบรอัน เลาดรู๊ป และเฮนรีค ลาร์เซน ที่ร่วมกันเป็นแชมป์ยุโรปในปี 1992 หรือ 4 ปีหลังมาคว้าแชมป์คิงส์คัพในไทย
"บราซิล" ก็เป็นอีกชาติที่เคยมาร่วมศึก "คิงส์คัพ" หลายครั้ง และนักเตะดังที่เคยผ่านเวทีนี้ในทีมชาติบราซิลชุดเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ที่มาแข่งขันก็มี เช่น โรนัลดินโญ่ ในศึกคิงส์คัพครั้งที่ 30 เมื่อปี 2542 ก่อนจะมาอีกครั้งกับทีมบราซิลชุดผสมในปีถัดมา ร่วมกับนักเตะอย่าง โรเบอร์โต้ คร์ลอส, คาฟู, ริวัลโด้ ฯลฯ
"คิงส์คัพ" ถือเป็นเวทีสำหรับนักเตะไทยมากมาย โดยเกือบ 50 ปีของการแข่งขัน นักเตะจำนวนมากสามารถพัฒนาฝีเท้าขึ้นมาเป็น นักเตะดัง ของทีมชาติไทย ตั้งแต่ยอดนายทวาร สราวุธ ประทีปากรชัย , ชัชชัย พหลแพทย์ , ณรงค์ สังข์สุวรรณ , วิชิต แย้มบุญเรือง รวมทั้ง”สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ , เจษฎากรณ์ ณ พัทลุง , เชิดศักดิ์ ชัยบุตร "ปีกซ้ายมหาภัย", วิทยา เลาหกุล , สุทิน ไชยกิตติ,ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน
ต่อมาก็เป็นยุค "ดรีมทีม" อย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง , ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน ฯลฯ จนถึงชุดปัจจุบันที่คว้าแชมป์ครั้งล่าสุดอย่าง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ธนบูรณ์ เกศารัตน์ , ธีราทร บุญมาทัน และธีรศิลป์ แดงดา
"คิงส์คัพ" เป็นของขวัญพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้กับวงการฟุตบอลไทย ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่นายกสมาคมและคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมรูปถัมภ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2512 ความตอนหนึ่ง ว่า
"...การที่สมาคมฟุตบอลได้จัดการแข่งขันนานาชาติเป็นครั้งที่ ๒ นี้ ก็นับว่าเป็นผลสำเร็จที่ดีและเป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย เพราะว่าต้องฟันผ่าอุปสรรคหลายด้าน ทั้งในด้านการแข่งขันหรือในด้านกีฬาแท้ๆ ทั้งในด้านการจัดงาน การร่วมมือกันจัดงานซึ่งคงลำบากยากเย็นก็ผ่านพ้นไปด้วยดี และเป็นที่น่ายินดีสำหรับสมาคมฟุตบอล นับว่าเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งที่ได้ปฏิบัติมา ก็ขอให้สมาคมฟุตบอลได้สอดส่องกีฬาฟุตบอลให้ดี"
"เพราะว่าคนไทยก็มีศักดิ์มีความสามารถไม่น้อยในการที่จะเล่นกีฬาฟุตบอล ยังอยู่ก็ที่จะต้องช่วยกันด้วยความสามารถด้วยความรู้ และด้วยความสามัคคี เพื่อช่วยกันสร้างนักฟุตบอลให้ดี ช่วยกันสร้างความรู้หรือความสามารถในด้านเชิงฟุตบอล ทั้งในด้านตัวบุคคลและในด้านรวมทีม ที่จะให้นักฟุตบอลของเราสามารถที่จะฟันฝ้าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และมีขัยชนะได้ดียิ่งขึ้น ทั้งขอให้สอดส่องในการความเป็นนักกีฬา ของนักเตะฟุตบอล ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในกีฬาฟุตบอล คือผู้ที่เป็นฝ่ายจัดการหรือฝ่ายอำนวยการในทีมฟุตบอลต่างๆ"
"ทั้งในด้านการอธิบายให้ผู้ดูสามารถที่จะดูกีฬาฟุตบอลโดยมีความสรุกครึกครื้น มีความรู้ ความรื่นเริง ความตื่นเต้น และความเรียบร้อย อันนี้ก็เป็นที่หน้าที่ของสมาคมฟุตบอลเหมือนกันที่ควรจะชี้แจงให้คนทั่วๆ ไปทราบถึงจุดประสงค์ของกีฬา ถ้าทำได้สำเร็จด้วยดีก็จะเป็นชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของสมาคมฟุตบอล ที่จะทำให้วงการฟุตบอลของเมืองไทยมีมาตรฐานสูงขึ้นในด้านการกีฬา ...”
ในปีแรกๆของการแข่งขัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเสด็จไปทอดพระเนตรและพระราชทานถ้วยรางวัลให้กับทีมชนะเลิศด้วยพระองค์เอง ที่สำคัญ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์แก่ สำรวย ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเมลเบิร์น ให้เดินทางกลับไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมันตะวันตก (SPORTHOCHULE KOLN W.GERMANY)
โดยเน้นเกี่ยวกับวิทยาการกีฬาฟุตบอล การจัดการ การฝึกซ้อมและแบบแผนการเล่นสมัยใหม่ เพื่อการพัฒนานักฟุตบอลของไทยให้มีทักษะพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นจนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง (FUSSBAL LEHRER) เมื่อปี 2506 เมื่อสำเร็จกลับมา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทีมสโมสร "ราชวิถี" ทีมฟุตบอลในตำนานของไทย
จึงกล่าวได้ว่า ในหลวง "รัชกาลที่ 9" คือศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ เป็นเหตุผลที่นักกีฬาและนักฟุตบอลไทยได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ขึ้นเทิดทูนตั้งแต่ก่อนแข่งขันและหลังการแข่งขัน ดั่งภาพที่ปรากฏต่อชาวโลกในทุกทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขัน คือ "พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม" ไปตลอดกาล