"ถนนห้วยมงคล" จุดกำเนิดโครงการพระราชดำริแห่งแรกของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9"
วันวานของบ้านห้วยคต เมื่อครั้งที่ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ขับฝ่าดงจนรถพระที่นั่งตกหล่มก่อเกิดเป็น "ถนนห้วยมงคล" จุดเริ่มต้นโครงการพระราชดำริแห่งแรก
วันวานของบ้านห้วยคต เมื่อครั้งที่ "ในหลวง
รัชกาลที่ 9" ขับฝ่าดงจนรถพระที่นั่งตกหล่มก่อเกิดเป็น "ถนนห้วยมงคล" จุดเริ่มต้นโครงการพระราชดำริแห่งแรก
หากจะกล่าวถึง "โครงการพระราชดำริ" ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ แล้วนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน นั้นเป็นที่ประจักแก่สายตาชาวโลกไปทั่ว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ท่านนั้นมีมากมายเหลือคณานับ หลายพันโครงการที่ก่อให้เกิดการกอบกู้-พื้นฟูแผ่นดิน ทำให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับอยู่ดีมีสุขกันไปทั่วถ้วนทุกหัวระแหงในแผ่นดิน แม้ที่อยู่ห่างไกลความเจริญมากมายแค่ไหนพระองค์ก็ยังไปถึง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่มิเคยห่างหายไปแม้แต่น้อยนิดถึงแม้พระองค์จะทรงชราภาพมากแล้วก็ตาม แต่พระองค์ท่านก็มิเคยได้ว่างเว้นจากการทรงงาน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในใต้ร่มพระบารมีของพระองค์มิได้ขาด
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแห่งแรกในประเทศไทย นับจากวันที่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน และโครงการพระราชดำริก็ก่อบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกของ นายมนูญ มุขประดิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร. )ในขณะนั้น ได้เขียนเล่าไว้ในเรื่อง “ประทีปแห่งแผ่นดิน” ในหนังสือเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) กับงานจัดการทรัพยากรน้ำไว้ว่า
เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระบรม เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยคต ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามทางเกวียน ที่มีสภาพขรุขระเป็นหลุมบ่อ ทำให้รถยนต์พระที่นั่งติดหล่มบริเวณใกล้บ้านของนายรวย งามขำ ซึ่งได้เข้ามาช่วยตำรวจทหารและข้าราชการที่ติดตามเสด็จฯ ยกรถยนต์พระที่นั่งจนพ้นจากหล่ม
ทรงสอบถามปัญหาต่างๆ กับนายรวย จึงทรงทราบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่มีถนนทำให้การเดินทาง โดยการเดินหรือเกวียน เพื่อนำพืชผลไปขายที่ตลาดหัวหิน ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลานานเป็นวันหรือ ๒ วัน หรือถ้าเช่าเหมารถจิ๊บก็มีค่าเช่าสูงถึงเที่ยวละ ๕๐๐ บาท ไม่คุ้มค่ากับราคาพืชผลที่ขายได้ โดยเฉพาะหากเจ็บป่วยกะทันหันหรือถูกงูกัดก็ไม่สามารถมาถึงโรงพยาบาลได้ทันการณ์
จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนจากหัวหินไปบ้านห้วยคต โดย ทรงใช้วิธีพระราชทานรถบูลโดเซอร์แก่ตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ซึ่งมีภารกิจปฏิบัติงานอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ที่ขณะนั้นมีปัญหาการปลูกพืชเสพติด ชนกลุ่มน้อยการลักลอบเข้าเมือง การขนของผิดกฎหมาย ทำให้ตำรวจได้ช่วยเหลือและมีความใกล้ชิดกับประชาชน สร้างความไว้วางใจให้ประชาชน ให้มีความมั่นใจในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ทางราชการ โดยตำรวจที่ไปช่วยก่อสร้างถนนได้พักแรมอยู่กับบ้านของผู้ใหญ่บ้าน มีการสอนหนังสือและกิจกรรมสันทนาการร่วมกันไปด้วยหลังเลิกงานตอนเย็น
จากการสัมภาษณ์ราษฎรบ้านห้วยคต ที่มีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จ เล่าว่า ต่อมาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยคต พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอบถามเกี่ยวกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรลำห้วยบริเวณหลังบ้านนายรวยเพื่อหาจุดก่อสร้างฝายทดน้ำ ในระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอนเด็กๆ ในหมู่บ้านให้ร้องเพลง ทรงเล่านิทานพระราชทานแก่เด็กๆ และทั้งสองพระองค์ประทับเสวยพระกระยาหารบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าบ้านนายรวย
มีพระราชดำรัสกับนายรวยว่า “ต่อไปที่นี้ น้ำจะไหล ไฟจะสว่าง ที่ดินจะมีราคา ให้ช่วยกันรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน อย่าไปขาย ...เพราะถ้าไม่มีที่ดินทำกินก็จะไม่มีอิสระ ต้องไปเป็นลูกจ้างคนอื่น...”
นายรวย ได้นำผลขนุนมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงพระราชทานเงินให้เป็นขวัญถุง ๓๖ บาท ซึ่งภรรยานายรวย เล่าว่า เป็นเรื่องแปลกมากที่หลายครั้งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินพระราชทานนี้เพราะลูกป่วยมาก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือโดยตลอด ทำให้สามารถยังเก็บรักษาเงินพระราชทานไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ และนายรวยได้สั่งเสียลูกไว้ว่าไม่ให้ขายที่ดิน เพราะได้รับปากกับพระเจ้าแผ่นดินไว้แล้ว
การก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยคต ซึ่งต่อมาพระราชทานชื่อว่า “ห้วยมงคล” ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จ และได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอด ปัจจุบันสามารถเดินทางจากหัวหินไปห้วยมงคลได้ในเวลาเพียง ๒๐ นาที
ถนนห้วยมงคลไม่เพียงเป็นเส้นทางสัญจรที่สะดวกขึ้น แต่ได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างตำรวจกับประชาชน และเป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ด้วย นับเป็นโครงการพัฒนาชนบทอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก เปิดประตูสู่การพัฒนาประเทศในรูปแบบ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ตามมาอีกกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ
ที่มา สำนักงาน กปร.