"พระพุทธนวราชบพิตร" อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม "ในหลวง ร.9"
"พระพุทธนวราชบพิตร" อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พร้อมพระบรมราโชวาท "ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์"
งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระผู้ทรงเป็น "อัครศิลปิน" นอกจากที่เป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) พระรูปปั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว และรูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมันแล้ว พระองค์ท่านยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูป ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. เพื่อให้ประชาชนได้เช่าไว้สักการบูชา และทรงมีพระราชดำริแก่ช่างปั้น เกี่ยวกับพุทธลักษณะของพระพุทธรูปด้วยพระองค์เอง และภายหลัง ได้มีพระราชประสงค์ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 9 นิ้ว พระราชทานชื่อ "พระพุทธนวราชบพิตร" เป็นพระพุทธรูปปฎิมาแบบพิเศษ ปางมารวิชัย โดยให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีด แล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์
พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีแนวพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ควรมีลักษณะสง่างาม เข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกระด้าง และให้มีความรู้สึกที่ว่าเป็นที่พึ่งเหล่าพสกนิกร เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบพระพุทธรูป โดยส่วนฐานของพระพุทธรูปจะเป็นกลีบบัว ใต้กลีบบัวเป็นขาสิงห์ ที่ผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย ย่อว่า ภ.ป.ร. และที่ฐานรองพุทธบัลลังก์มีอักษรบาลีจารึกว่า "ทยยชาติยา สามคคิย์ สติสญชนเนนโภชิสิย รกขนุติ" และบรรทัดถัดมาเป็นอักษรไทยจารึกว่า "คนไทยจะรักษาความเป็นไทย อยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกในความสามัคคี" ฐานด้านหลังจารึกว่า "เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508"
ต่อมาภายหลัง ได้ทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้ง และทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์จากปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายในพระพิมพ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้บรรจุพระพิมพิ์ขนาด 2 x3 เซนติเมตร ไว้ที่ฐานบัวหงาย ด้านหน้าขององค์ "พระพุทธนวราชบพิตร" พร้อมทั้งทรงพระราชทานแก่ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และบุคคลต่าง ๆ เพื่อไว้สักกะบูชา โดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า "ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์" โดยเรียกว่า "พระสมเด็จจิตรลดา" หรือ "พระกำลังแผ่นดิน" ด้วยพระราชประสงค์ เพื่อประดิษฐานในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นสิริมงคล และเป็นนิมิตรหมายแห่งความผูกพัน ระหว่างพระมหากษัตริย์ และพสกนิกร
ที่มา : sites.google.com , www.silpa-mag.com