พระราชดำรัส "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ดั่งน้ำทิพย์คลี่คลายวิกฤตทางการเมือง
"ในหลวงรัชกาลที่ 9" มีกระแสพระราชดำรัส ในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เตือนสติให้คู่ขัดแย้ง หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ชัยชนะ เพราะสุดท้ายไม่มีใครชนะ มีแต่แพ้ ที่สำคัญ ประเทศชาติแพ้ แล้วมีประโยชน์อะไรที่เราชนะบนซากปรักหักพัง
13 ตุลาคม 2564 "วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9" เวียนมาบรรจบ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "ในหลวงรัชกาลที่9 " แม้เป็นเวลาล่วงเลยมา 5 ปีแล้วที่"พ่อหลวงรัชกาลที่ 9" ของพสกนิกรชาวไทย ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย
ทว่า ทุกพระสุรเสียงของพระองค์นั้น ยังกึกก้องตราตรึงในหัวใจพสกนิกรทุกหมู่เหล่า อีกทั้งยังเป็นเครื่องเตือนสติให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าร่วมมือแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองจนอยู่รอดปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม”
นี่คือพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ยังคงตราตรึงในหัวใจพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน มาจวบจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทรงดำเนินการบรรลุพระราชสัตยาธิษฐาน ตามพระปฐมบรมราชโองการอย่างแท้จริง ทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง ปกครองแผ่นดิน และดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดินให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสสำคัญ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตให้กับคนไทย หลายครั้งยังช่วยนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ไม่ต่างกับน้ำทิพย์จากฟากฟ้าที่มาดับไฟให้แก่ประเทศ
"คมชัดลึก ออนไลน์" รวบรวมบางส่วนพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
“...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม 2506
“....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”
ความตอนหนึ่งในเรื่องของการส่งเสริมคนดี จากพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512
“…การมีเสรีภาพนั้นเป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย…”
ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ วันที่ 9 กรกฎาคม 2514
“…ขอให้ทุกฝ่ายทุกคน จงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด อนึ่งเพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน…”
ความบางตอน จากพระราชดำรัส ที่พระราชทานออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงทุกแห่ง ในช่วงค่ำวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังมีการสลายการชุมนุมของนักศึกษา ทำให้เหตุการณ์ลุกลาม และทวีรุนแรงขึ้น ถึงขั้นจลาจล และมีผู้เสียชีวิต
วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 หรือเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "พฤษภาทมิฬ" โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และมีการเสนอให้ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" รับตำแหน่งนายกฯในเวลาต่อมา ได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ของประชาชน นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยมี"พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" เป็นแกนนำออกมาชุมนุมต่อต้านพร้อมกับอดอาหารประท้วง มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จนเกิดเหตุทหารเข้าสลายการชุมนุมและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในที่สุดเมื่อค่ำวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีขณะนั้น ได้นำ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" และ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสสำคัญทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งได้ยุติลง
“ ขอให้สองท่าน หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชน แล้วจะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง..."
ความบางตอนจากพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ระหว่างเหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ" หลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีขณะนั้น ได้นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ และส่งผลให้เหตุการณ์รุนแรงนั้น ยุติลง
แม้จะเสด็จสวรรคตสู่สวรรคาลัย แต่ทุก "คำสอนของพ่อ" ด้วยหลักธรรม หลักคิด และหลักปฏิบัติ ยังคงอยู่ และสามารถยึดถือไปปฏิบัติ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำและการดำเนินชีวิตของพสกนิกรไม่ลืมเลือน ธ สถิตอยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทยตราบชั่วนิจนิรันดร์