จากศาสตร์พระราชา สู่ "โคกหนองนาโมเดล" จ.พระนครศรีอยุธยา
จากศาสตร์พระราชาสู่โคกหนองนาโมเดล จ.พระนครศรีอยุธยา แนวคิดล้ำค่าจากพ่อหลวง ร.9 ที่ช่วยพลิกฟื้นผืนดินให้มีค่ายิ่งกว่าทองคำ
ครั้งหนึ่งในอดีตรูปแบบการทำการเกษตรทฤษฎีเก่าในเมืองไทย คือ เน้นไปที่การกักเก็บน้ำในรูปแบบชลประทาน และปล่อยน้ำมาใช้ทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากปีใดฝนตกน้อย ก็ทำให้ขาดแคลนน้ำ
ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานแนวคิดเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อช่วยเกษตรกรรายเล็ก ที่อาจจะมีที่ดินห่างไกลจากแหล่งน้ำ ให้จัดสรรพื้นที่ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้แม้ในหน้าแล้ง
และนี่คือ โคกหนองนา ของ ดร.บุณฑริก รักนุช และครอบครัว ครอบครัวเกษตรกร ในตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่น้อมนำแนวความคิดนี้มาลงมือปฏิบัติจริงปรับพื้นที่ในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล โดยมีจุดเริ่มต้นจากภายในจิตใจ ที่ต้องการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ก็มีความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว สามารถที่จะปรับพื้นที่ขุดแหล่งน้ำได้ตาม สัดส่วน 30:30:30:10
30 % ใช้ขุดสระเก็บกักน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่
30 % ใช้ทำนาปลูกข้าว
30 % สำหรับทำโคกหรือป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็คือปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ
10 % ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย เป็นต้น
ดร.บุณฑริก กล่าวว่า มีความดีใจและมีความตั้งใจที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้จริงในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน ในอนาคตมีความมุ่งหวังจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยผลักดันแนวคิดนี้สู่เกษตรกรผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา"
นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปีนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลักดันโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ไปได้ทั้งหมด 213 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ไร่ 1 จำนวน 172 แปลง พื้นที่3 ไร่ จำนวน 41 แปลง เพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือน และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับรู้ถึงความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เกิดเป็นรูปธรรม
แม้ว่าแนวคิดเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่จะถูกเผยแพร่มานานนับสิบปี แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ เพราะการทำเกษตรเชิงเดี่ยวนั้น ได้เงินเร็วกว่าแต่ไม่ยั่งยืน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ เกษตรกรจะต้องอาศัยเวลา ยังไม่เห็นผลทันตาแต่เมื่อทำสำเร็จ เกษตรกรจะมีกินมีใช้แบบยั่งยืน เพราะไม่ว่าโลกจะหมุนไปเช่นไร แต่ถ้าในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าวเสมอ คนไทยจะไม่มีวันอดตาย นี่คือสมบัติล้ำค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวความคิดไว้ให้ลูกหลานชาวไทยสืบไป
ภาพ/ข่าว เกียรติยศ ศรีสกุล ผอ.ข่าวคมชัดลึกทั่วไทย ภาคกลาง
จิราพร ม่วงงาม เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมการพัฒนาชุมชน