ข่าว

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" เปิด 7 เขื่อนจัดการน้ำ 13 ตุลาคม รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

"ในหลวงรัชกาลที่ 9" เปิด 7 เขื่อนจัดการน้ำ 13 ตุลาคม รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

13 ต.ค. 2564

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย

 

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 วันคล้ายวันสวรรคต "ในหลวงรัชกาลที่ 9" คมชัดลึกออนไลน์ เทิดพระเกียรติ พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกด้าน ถ้าน้ำขาดแคลนก็ทรงหาวิธีจัดหาน้ำให้ และเมื่อน้ำท่วมก็ทรงบรรเทาให้น้อยลง และทรงหาวิธีป้องกันให้ หรือมีน้ำเน่าเสียก็ทรงจัดการแก้ไขให้ ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำจึงมีหลายสิบทฤษฎี ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านนี้อย่างแท้จริง

 

 

 

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

  • เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำที่ใหญ่ ยาว ลึก ที่สุดในประเทศไทย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำป่าสัก และ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 2 ธันวาคม 2537 โดยกรมชลประทาน เป็นผู้รับผิดชอบ
  • สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี "ในหลวงรัชกาลที่ 9" จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

 

  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2542 และทำพิธีปฐมฤกษ์กักเก็บน้ำเขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน 2541 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน และในวันที่ 7 ตุลาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันหมายถึง เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • "ในหลวงรัชกาลที่ 9" เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

 

เขื่อนขุนด่านปราการชล

  • ชื่อเดิมเรียกว่า เขื่อนคลองท่าด่าน เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดยาวที่สุดในประเทศไทยและในโลก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก กั้นแม่น้ำนครนายก สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ในหน้าแล้ง และควบคุมไม่ให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน โดยสร้างครอบฝายท่าด่านเดิม
  • ที่ราบลุ่มนครนายกมีระดับน้ำใต้ดินมีการลดระดับหรือพื้นที่ลาดเทค่อนข้างมาก ทำให้น้ำไหลบ่ารุนแรงในช่วงฤดูฝน ส่วนบริเวณพื้นที่ชลประทานนครนายก เป็นพื้นที่ราบกว้างขวางมีระดับน้ำใต้ดินต่ำจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งส่วนในฤดูฝนกลับเกิดปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่มีความลาดเอียงน้อยทำให้น้ำระบายออกยากน้ำจึงท่วมขังเป็นเวลานาน การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำนครนายกตอนบนจึงเป็นการชะลอกระแสน้ำไม่ให้ไหลอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝนโดยจะกักเก็บน้ำไว้ และในทางกลับกัน จะสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งได้แทนที่จะต้องเผชิญกับภัยแล้ง

 

 

  • ตัวเขื่อนขุนด่านปราการชลประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนรองสร้างด้วยคอนกรีตบดอัด ปัจจุบันเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวที่สุดในโลก มีความยาวรวม 2,720 เมตร ความสูง (สูงสุด) 93 เมตร รับน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำ มีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทำให้มีน้ำในการทำเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค แก้ปัญหาดินเปรี้ยว เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของนครนายก นักท่องเที่ยวสามารถชมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้จากบริเวณสันเขื่อน จะเห็นทิวทัศน์ด้านหน้าเขื่อน และชมทิวทัศน์เมืองนครนายกด้านหลังเขื่อน ในอนาคตมีโครงการจะสร้างแก่งเทียมเพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นสนามสลาลอมนานาชาติ ซึ่งจะเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ หากก่อสร้างแก่งเทียมแล้วเสร็จ จะสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายกเพิ่มขึ้น

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

เขื่อนรัชชประภา

  • ชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อนสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามให้ใหม่ว่า เขื่อนรัชชประภา มีความหมายว่า แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร
  • เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง มีความจุ 5,638.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลัง การผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

 

 

  • เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2530 "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2530 แต่เดิมนั้นสามารถเดินทางได้โดยจาก อำเภอพนม แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนประกอบด้วยเหวจำนวนมากเส้นทางดังกล่าวจึงต้องปิดตัวลงโดยปัจจุบันสามรถเดินทางโดยผ่านอำเภอบ้านตาขุน
  • เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในปี 2531

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

เขื่อนเจ้าพระยา

  • เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 4 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2500
  • เขื่อนเจ้าพระยามีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร ติดตั้งบานประตูเหล็กรูปโค้งสูง 7.50 เมตร มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง ประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวากว้าง 14 เมตร ยาว 170.50 เมตร เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บนสันเขื่อนมีสะพานกว้าง 7 เมตร รับรถน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน และมีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินสร้างบนคันกั้นน้ำซ้ายมือเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย อัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนสูงสุดประมาณ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่การปล่อยน้ำจะควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อมิให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

  • ทัศนียภาพรอบเขื่อนสวยงาม ช่วงเดือนมกราคมในบริเวณแม่น้ำเหนือเขื่อนจะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นมาอาศัยหากิน เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย ส่งน้ำไปในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลางเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 5 สาย คือ แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า - อู่ทอง คลองชัยนาท - ป่าสัก และคลองชัยนาท - อยุธยา และยังใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับจ่ายในจังหวัด

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

  • ลำน้ำแม่กวง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง มีต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาในเขตอำเภอดอยสะเก็ด ไหลผ่านอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ อำเภอเมืองลำพูน และอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ในอดีตน้ำในลำน้ำกวงไหลเอ่อท่วมพื้นที่ของราษฎรได้รับความเสียหาย จนในปี 2472 พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงวางแผนจะสร้างฝายทดน้ำพร้อมเหมืองส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณจึงต้องล้มเลิกไป
  • ในปี 2478 เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ได้สร้างฝายกั้นลำน้ำแม่กวงที่ดอยลอง บ้านผาแตก จนในปี 2491 กรมชลประทานได้สร้างฝายหินขึ้นทดแทน จนในวันที่ 4 มีนาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด และได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานสำรวจและศึกษาการพัฒนาลำน้ำสาขาของแม่น้ำกวง

 

 

  • เขื่อนแม่กวงอุดมธารา สร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2519 โดยกรมชลประทานเริ่มสำรวจออกแบบและก่อสร้างในปี 2520 พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้จากต่างประเทศ โดยขอกู้เงินจากญี่ปุ่นในระหว่าง ปี 2525 ถึงปี 2530 รวมเป็นเงิน 7,000.5 ล้านเยน
  • "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538
  • ในปี 2558 กรมชลประทานได้เริ่มต้นดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อผันน้ำจากลำน้ำแม่แตง และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา

 

 

  • เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เขื่อนหลัก เขื่อนฝั่งขวา และเขื่อนฝั่งซ้าย ระดับสันเขื่อนสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 390 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 15 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 204 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 148,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

เขื่อนภูมิพล

  • แนวคิดสร้างเขื่อนแห่งนี้เกิดจากการที่ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประธาน เดินทางไปดูงานชลประทานที่สหรัฐฯ และเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำปิง หม่อมหลวงชูชาติเสนอความเป็นไปได้ต่อรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2492 คณะรัฐมนตรีอนุมัติการสำรวจศึกษาโครงการ จนได้ข้อสรุปว่าที่เหมาะสม คือ บริเวณตำบลยันฮี จังหวัดตาก เมื่อหน่วยงานของสหรัฐฯ รับรองว่าสภาพพื้นที่ดังกล่าวสามารถสร้างเขื่อนได้ รัฐบาลเริ่มทุ่มงบประมาณตัดถนนจากถนนพหลโยธินเข้ามาถึงบริเวณที่ก่อสร้าง และเริ่มกระบวนการเจรจากู้เงินจากธนาคารโลก
  • คณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้าง เมื่อปี 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า เขื่อนยันฮี การเวนคืนเริ่มขึ้นในปี 2499 การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อปี 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และมีบริษัทอื่นจาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2501 ศิลาฤกษ์วางเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507

 

 

  • เขื่อนภูมิพลสร้างปิดกั้นแม่น้ำปิง ที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งกู้จากธนาคารโลกเป็นเงิน 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการชื่อว่า การไฟฟ้ายันฮี เมื่อปี 2500 ในระยะแรก เขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง และหลังเปิดดำเนินงานในปี 2507 ได้เพียงสามปี การไฟฟ้ายันฮีมีกำไรสะสมถึงปี 2510 มากถึง 397.41 ล้านบาท การไฟฟ้ายันฮีได้ควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ การลิกไนต์ และ การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี 2511

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

เขื่อนอุบลรัตน์

  • เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจาก เขื่อนภูมิพล และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์ - ชั่วโมง
  • การสร้างเขื่อนริเริ่มขึ้นในชื่อ โครงการน้ำพอง เมื่อปี 2503 โดยได้รับความร่วมมือจากกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2507 ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในปี 2508 และเนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านช่องเขาทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำพองดูเหมือนถูกหนีบ ชาวบ้านจึงเรียกเขื่อนนี้ว่า เขื่อนพองหนีบ ตามชื่อดั้งเดิมของบริเวณนี้

 

 

  • เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน พระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า เขื่อนอุบลรัตน์

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9, 13 ตุลาคม 2564

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย