รัฐบาล ปรับรูปแบบกิจกรรมน้อมรำลึก"วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9"
รัฐบาล โดย สำนักปลัดสำนักนายกฯ เปิดเผยการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องใน"วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9" ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
รัฐบาล โดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการปรับรูปแบบจัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องใน"วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9" ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
"นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ" ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 13 ตุลาคม 2564 เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในการนี้ รัฐบาลจึงได้พิจารณาแนวทางการจัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสดังกล่าว โดยปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งปีนี้งดจัดพิธีบำเพ็ญกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ท้องสนามหลวงเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมน้อมรำลึกฯ ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถพิจารณาดำเนินการได้ ดังนี้
1. จัดพิธีวางพวงมาลา โดยหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2564 เวลา 08.30 น. ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงานหรือสถานที่ตามความเหมาะสม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานเป็นประธานในพิธี และมีผู้ร่วมพิธีจำนวนไม่เกิน 12 คน ในต่างประเทศให้ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลดำเนินการจัดพิธีวางพวงมาลาตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
ทั้งนี้ การจัดพิธีดังกล่าวขอให้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด
"ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า การจัดพิธีวางพวงมาลา ในนามฝ่ายบริหาร กำหนดจัดพิธีวางพวงมาลา ในวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2564 เวลา 08.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา เป็นประธานในพิธี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมพิธี โดยการจัดพิธีดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
2. จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่กำหนด ระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2564
3. จัดทำคำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจ เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานและสื่อออนไลน์ และจัดทำสารคดีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในช่วงวันคล้าย วันสวรรคต โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินการ ในระหว่างวันที่ 1 - 15 ตุลาคม 2564
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดการครองราชย์ 70 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรม-ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วย
พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ ทรงมีพระราชกรณียกิจและมีโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,800 โครงการ ทั่วประเทศ ใน 8 ประเภท คือ ด้านแหล่งน้ำ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมอาชีพ
ด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา และด้านบูรณาการ โครงการพระราชดำริทั้งหมดได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้
วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ความว่า ‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’ ถือเป็นพระราชปณิธานที่ทรงตั้งมั่นที่จะสานต่อแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถ-บพิตร เพื่อนำไปสู่การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงสืบไป
เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ทุกภาคส่วนสามารถพิจารณาจัดกิจกรรมน้อมรำลึกฯ ได้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น