ข่าว

8 นามพระราชทาน "ในหลวงรัชกาลที่ 9" 13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

8 นามพระราชทาน "ในหลวงรัชกาลที่ 9" 13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

13 ต.ค. 2564

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระราชทานนาม 8 โครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำในทุกด้าน ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย

 

13 ตุลาคม 2564 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 วันคล้ายวันสวรรคต "ในหลวงรัชกาลที่ 9" คมชัดลึกออนไลน์ เทิดพระเกียรติ พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกด้าน ถ้าน้ำขาดแคลนก็ทรงหาวิธีจัดหาน้ำให้ และเมื่อน้ำท่วมก็ทรงบรรเทาให้น้อยลง และทรงหาวิธีป้องกันให้ หรือมีน้ำเน่าเสียก็ทรงจัดการแก้ไขให้ ศาสตร์พระราชาเรื่องการบริหารจัดการน้ำจึงมีหลายสิบทฤษฎี ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านนี้อย่างแท้จริง

 

 

 

8 นามพระราชทาน โครงการชลประทาน

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2529 และเสด็จพระราชดําเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2529 โดยสร้างขึ้นตามพระราชดําริ เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตั้งอยู่บนลําน้ำงัด สาขาแม่น้ำปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาดําเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี 2528 มีกําลังการผลิต 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านกิโลวัตต์ - ชั่วโมง

 

 

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538 เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่นสูง 68 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร สร้างปิดกั้นลําน้ำแม่กวง ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 13 ตําบล ในเขต จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลําพูน รวมพื้นที่ประมาณ 175,000 ไร่ เกิดจากแผนพัฒนางานชลประทานในลุ่มน้ำแม่กวงที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2472 โดยได้ก่อสร้างฝายผาแตกขึ้นที่ดอยลองบ้านผาแตกเมื่อปี 2478 ต่อมากรมชลประทานได้ปรับปรุงฝายใหม่ สามารถส่งน้ำในพื้นที่ 72,750 ไร่
  • 4 มีนาคม 2519 "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้าง และพระราชทานพระราชดําริให้กรมชลประทานศึกษาการพัฒนาลําน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวงและจัดหาที่ดินทํากินให้ราษฎร ซึ่งพื้นที่ทำกินดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมหลังการก่อสร้างเขื่อน

 

 

 

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดําริ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2532 ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นประจําในลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งผลสืบเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลด้วย "ในหลวงรัชกาลที่ 9" เสด็จพระราชดําเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อที่มีความหมาย คือ เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศ ปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

  • ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ตั้งอยู่ในบ้านบางปี้ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และปัญหา ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร และด้วยทัศนียภาพโดยรอบที่งดงาม เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางแม่น้ำปากพนัง มีสะพานข้ามฝั่งแม่น้ำเพื่อให้คนในพื้นที่ได้สัญจรข้ามไปมา ยังอีกฝั่ง และได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นเหมาะสำหรับมาพักผ่อนชมวิว หากมองไปยังริมแม่น้ำสามารถมองเห็นสัญลักษณ์ ปล่องไฟสูงของโรงสีข้าวเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทางอำเภอปากพนังอนุรักษ์ไว้ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จึงกลายเป็น สถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ ที่น่าสนใจอีกแห่ง หนึ่งของอำเภอปากพนัง

 

 

เขื่อนขุนด่านปราการชล

  • ชื่อเดิมเรียกว่า เขื่อนคลองท่าด่าน เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดยาวที่สุดในประเทศไทยและในโลก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกกั้นแม่น้ำนครนายก สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ในหน้าแล้ง และควบคุมไม่ให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน โดยสร้างครอบฝายท่าด่านเดิม
  • ที่ราบลุ่มนครนายกมีระดับน้ำใต้ดินมีการลดระดับหรือพื้นที่ลาดเทค่อนข้างมาก ทำให้น้ำไหลบ่ารุนแรงในช่วงฤดูฝน ส่วนบริเวณพื้นที่ชลประทานนครนายก เป็นพื้นที่ราบกว้างขวางมีระดับน้ำใต้ดินต่ำจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งส่วนในฤดูฝนกลับเกิดปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่มีความลาดเอียงน้อยทำให้น้ำระบายออกยากน้ำจึงท่วมขังเป็นเวลานาน การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำนครนายกตอนบนจึงเป็นการชะลอกระแสน้ำไม่ให้ไหลอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝนโดยจะกักเก็บน้ำไว้ และในทางกลับกัน จะสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งได้แทนที่จะต้องเผชิญกับภัยแล้ง

 

 

เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน

  • โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างท้องที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั่วไปฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภค - บริโภค มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 61.39 ตารางกิโลเมตร ความจุอ่าง ณ ระดับเก็บกักปกติ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกกั้นแม่น้ำแควน้อย

 

 

ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต

  • โครงการนี้เกิดขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงความยากลำบากของราษฎรที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สลับกันเรื่อยไป โดยช่วงฤดูฝนแม่น้ำโขงมีระดับสูงไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ แต่ช่วงฤดูแล้งแม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำในลำน้ำก่ำจะไหลลงมาเกือบทั้งหมด ทำให้ราษฎรเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร พระองค์ท่านจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเป็นลุ่มน้ำย่อยของแม่น้ำโขงซึ่งมีหนองหาน จังหวัดสกลนคร และลำน้ำก่ำเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญ โดยความหมายคือ ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น
  • ทั้งนี้ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงร่างภาพร่างพระหัตภ์รูปแบบแนวทางการพัฒนา ฝี ที่เรียกว่า ตัวยึกยือ ขึ้นโดยส่วนหัวหมายถึงหนองหานต้นกำเนิดลำน้ำก่ำ ส่วนกระดูกสันหลังคือลำน้ำก่ำ และส่วนข้อที่เป็นปล้อง ๆ หมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขณะที่ส่วนขอบลำตัวเปรียบเหมือนคลองรบายน้ำที่ไหลคู่ขนานไปกับล่ำน้ำก่ำ โดยที่ส่วนหาง หมายถึง ลำน้ำก่ำ โดยที่ส่วนหาง หมายถึง ลำน้ำโขง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับเพื่อใช้ในการชลประทาน การอุปโภค - บริโภค ในเขตโครงการประมาณ 22,000 ไร่ และทำหน้าที่ระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำในฤดูน้ำหลากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่น้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในฤดูแล้งและสามารถส่งเสริมการทำประมงของประชากรในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของประชากรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง

 

 

โครงการอุโมงค์ผันน้ำ "ลำพะยังภูมิพัฒน์"

  • 25 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของราษฎร โดยการขุดสระ กักเก็บน้ำตามแนวทฤษฎีใหม่ ในบริเวณพื้นที่บ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
  • 30 พฤศจิกายน 2536 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้ขยายผลการดำเนินงานโครงการไปสู่ราษฎรในบริเวณใกล้เคียง
  • 16 พฤศจิกายน 2538 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ ก่อสร้างขยายระบบส่งน้ำพร้อมทั้งพิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาเพื่อรับน้ำจากระบบส่งน้ำดังกล่าว ตามแนวทฤษฎีใหม่ และให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยังเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่ามีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็ก ๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าไม้
  • 22 มิถุนายน 2542 "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณายกระดับการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยังจากเดิม 3,500,000 ลูกบาศก์เมตร ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นถึง 4,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจะได้มีน้ำช่วยเหลือพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้รีบดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มายังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่ามีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็ก ๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้นราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ จนหมดและน้ำที่ออกมากให้พิจารณาว่าจะนำไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ในการบำรุงรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้นได้มากเพียงใด