ข่าว

"พระสมเด็จจิตรลดา" พระเครื่องของพ่อ จากฝีพระหัตถ์ เปี่ยมล้นด้วยพระบารมี

"พระสมเด็จจิตรลดา" พระเครื่องของพ่อ จากฝีพระหัตถ์ เปี่ยมล้นด้วยพระบารมี

13 ต.ค. 2564

"พระสมเด็จจิตรลดา" พระเครื่องฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานแก่ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเหล่าข้าราชบริพาร เปี่ยมล้นด้วยความงาม และคุณค่าทางจิตใจ ด้วยพระบารมีของเอกอัครศิลปิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช "อัครศิลปิน" ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปกรรม ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม ภาพถ่าย และการดนตรี ในด้านประติมากรรม ผลงานฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านที่สำคัญคือ ประติมากรรมลอยตัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครึ่งพระองค์ สูง 12 นิ้ว และประติมากรรมหญิงเปลือยนั่งคุกเข่าสูง 9 นิ้ว ที่ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน แล้วยังทรงทรงแกะแบบแม่พิมพ์ พระพิมพ์ที่เรียกกันว่า "พระสมเด็จจิตรลดา"
ที่มา : วิกิพีเดีย
"พระสมเด็จจิตรลดา" พระปางสมาธิ ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง 9 กลีบ บัว กลีบ ล่าง 4กลีบ และเกสรดอกบัว 9 จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร และองค์เล็กขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตรมีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือ สีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน

พระสมเด็จจิตรลดา มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย 

\"พระสมเด็จจิตรลดา\" พระเครื่องของพ่อ จากฝีพระหัตถ์ เปี่ยมล้นด้วยพระบารมี

นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร  ให้ข้อมูลว่า พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระเครื่อง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508 - 2513 พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์  ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ และภาพพระสมเด็จจิตรลดา โดยมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมา แล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ"

\"พระสมเด็จจิตรลดา\" พระเครื่องของพ่อ จากฝีพระหัตถ์ เปี่ยมล้นด้วยพระบารมี

โดยมีศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย การแกะพิมพ์ พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน เป็นพุทธศิลป์แบบแม่พิมพ์ลึก แล้วใช้ดินน้ำมันกดลงบนแม่พิมพ์ลึกเพื่อถอดแบบองค์พระสมเด็จจิตรลดา จากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทอดพระเนตร และทรงวินิจฉัยแบบพิมพ์ พระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไข ตกแต่ง แบบพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาหลายครั้ง จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อได้แม่พิมพ์ที่สมบูรณ์ด้วยพุทธศิลป์ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน 

ที่มา: วิกิพีเดีย

โดยพระองค์ท่านทรงใช้วัสดุเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพดี จนได้ตามจำนวนพระราชประสงค์แล้ว ก็ทรงนำต้นแบบพระสมเด็จจิตรลดาจำนวนหนึ่ง เรียงบนภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อทำการหล่อแม่พิมพ์อีกครั้ง โดยทรงหล่อเป็นแม่พิมพ์ยาง นับเป็นพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวที่รวมไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิน และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์  โดยมวลสารจะมีความแตกต่างจากพระเครื่องอื่น เป็นดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล เส้นพระเจ้า ดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล  สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ชันและสีน้ำมัน ซึ่งทรงขูดจากเรือใบไมโครมด เรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่งใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง 1967



และ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ วัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัดดอกไม้ ผงธูป เทียนบูชาพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ดอกไม้ ผงธูป เทียนบูชาจากพระอารามหลวงที่สำคัญ ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกาซึ่งสมณทูตได้ถวายเก็บไว้ในเจดีย์ที่วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากทุกจังหวัดในประเทศไทย เช่น จากพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และน้ำอภิเษก


ด้านดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร หนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา จากพระหัตถ์ ของในหลวงรัชกาลที่9 เปิดเผยว่า ตนเองมีโอกาสได้รับพระราชทานเมื่อตอนอายุ 2 ขวบ โดยได้รับจากพระหัตถ์พระองค์ท่าน และได้ใส่ติดตัวมาตลอด แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย นับเป็นสมบัติล้ำค่าทางจิตใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย โดยพระองค์จะทรงแกะพิมพ์ด้วยพระองค์เอง โดยพระองค์ที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ มาจะไม่มีกล่องกำมะหยี่ และการสร้างในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมาก โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา บุคคลสุดท้ายคือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

พระสมเด็จจิตรลดา มีการประมาณการว่ามีการจัดสร้างพิมพ์ใหญ่ราว 2,974 องค์ และพิมพ์เล็กอีกราว 40 องค์ แต่มีการคาดการณ์ว่ามีมากกว่านั้น เนื่องจาก สมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็ก ที่ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร รับพระราชทานมานั้น เป็นหมายเลข 59 โดยพระพิมพ์เล็ก ทรงพระราชทานแก่ลูกหลาน ของเหล่าข้าราชบริพาร และมีประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด และเป็นพระพุทธรูปประจำหน่วยทหาร ประดิษฐานไว้ ณ กองบัญชาการหน่วยทหาร โดยความพิเศษของพระสมเด็จจิตรลดา ที่แตกต่างจากพระเครื่องอื่น คือไม่มีพิธีพุทธาภิเษก จากเกจิดังแต่ผ่านการอธิษฐานจิตด้วยพระองค์เอง
ที่มา : วิกิพีเดีย

พระสมเด็จจิตรลดา พระเครื่องฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช นับเป็นพระเครื่องที่รวมไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางพุทธศิลป์ พุทธคุณ และคุณค่าทางจิตใจที่ยากจะประมาณได้