ข่าว

"รัชกาลที่9" กับมรดกแห่งพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

"รัชกาลที่9" กับมรดกแห่งพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

13 ต.ค. 2564

"ครูตู้" สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดสดการเรียนการสอนออกไปให้โรงเรียน เพิ่มโอกาสของนักเรียนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ล้วนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน จากพระเมตตาของในหลวง“รัชกาลที่9”

 “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคม และ บ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”

พระบรมราโชวาท “รัชกาลที่9” ที่พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2524

“รัชกาลที่9” ใส่พระราชหฤทัยเรื่องด้านการศึกษา ซึ่งเป็น  รากฐานสำคัญของชีวิต อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

“รัชกาลที่9” มีพระบรมราโชบายเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกระดับ ทุกประเภท ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย

ตลอดจนดูแลให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ไหนถิ่นทุรกันดารเพียงใด ก็ต้องนำการศึกษาเข้าไปให้ถึง ด้วยพระอัจฉริยภาพได้พระราชทานแนวทางในการยกระดับและแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษามากมาย

มรดกแห่งพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา “รัชกาลที่9” ตราตรึงในใจคนไทยและคนทั่วโลก 

ย้อนไป เมื่อ 2538 ในหลวง "รัชกาลที่9" ทรงมีแนวพระราชดำริลงมาว่า การศึกษาของชาติ ถ้ามองโดยรวมแล้วยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ นักเรียนในชนบทที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาส ถ้าหากโรงเรียนวังไกลกังวลจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 

โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการเรียนการสอนจากห้องเรียนไปยังโรงเรียนเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าช่วยได้เฉพาะโรงเรียนวังไกลกังวล

แต่จะเป็นการแบ่งปันที่เป็นการขยายโอกาสให้โรงเรียนที่เขาขาดแคลนในชนบทได้ประโยชน์ไปด้วย โดยใช้ห้องเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นต้นทางที่ไม่ใช่ต้นแบบ

โรงเรียนวังไกลกังวลจึงทำหน้าที่เป็นโรงเรียนต้นทาง ในการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนปลายทางที่ขาดแคลนครูผู้สอน ถ่ายเทความรู้ไปสู่เด็กในชนบทในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนปลายทางที่ขาดแคลนครูผู้สอน ทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ความสามารถอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันทั่วทั้งประเทศไทยได้ในวันเวลาเดียวกันหมด

การออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์เริ่มในวันที่ 5 ธันวาคม 2538 หลังจากนั้นไม่นาน โรงเรียนวังไกลกังวลก็ต้องยกระดับคุณภาพขึ้นมา ครูต้องไปเรียนรู้ คำว่าโรงเรียนต้นทางจึงพัฒนาไปจนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบ คือกลายเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนในระบบทางไกลผ่านดาวเทียม

โอกาสของนักเรียนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญเหล่านี้ได้รับอย่างเท่าเทียมกันนี้ มาจากพระเมตตาของในหลวง “รัชกาลที่9”   

26 ปีมาแล้วที่ “ครูตู้” จาก “สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม”แห่งโรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถ่ายทอดสดการเรียนการสอนออกไปให้โรงเรียนอีกหลายพันแห่งทั่วประเทศไทย ได้มีโอกาสรับความรู้จากครูผู้สอนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากประเทศไทยแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้พระราชทานอุปกรณ์รับสัญญาณให้กับโรงเรียนรัฐชั้นนำของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ทิพย์ในเวียงจันทน์

โดยนำไปติดให้ในห้องพิเศษหรือห้องเด็กอัจฉริยะ และมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งในเวียงจันทน์ ที่แขวงบ่อแก้ว นครจำปาสัก