เรื่องเล่าจากทำเนียบฯ ชีวิตนี้เราจะทำอะไร เพื่อ"ในหลวงรัชกาลที่9”
เรื่องราวดีๆจากทำเนียบฯ สมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ถ่ายทอดเบื้องหลังรณรงค์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้มีส่วนร่วมถวายความจงรักภักดีและเทิดทูน"ในหลวงรัชกาลที่ 9" ด้วยการเขียนไปรษณียบัตร “ชีวิตนี้เราจะทำอะไร เพื่อในหลวง” เพื่อปฏิบัติถวายพระองค์ท่าน
แม้ว่า ห้วงเวลาผ่านมา 5 ปีแล้วที่"ในหลวงรัชกาลที่9" เสด็จสู่สวรรคาลัย จนกระทั่งถึงวันนี้ 13 ต.ค.2564 ตรงกับ"วันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9" หากแต่หัวใจของพสกนิกรชาวไทยก็ยังระลึกถึงพระองค์ท่านมิรู้ลืม ดั่งเช่น ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล " สมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีถึง 15 ท่าน ได้เล่าเบื้องหลังถึงการริเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมถวายความจงรักภักดีและเทิดทูนพระองค์ท่านด้วยการเขียนไปรษณียบัตร “ชีวิตนี้เราจะทำอะไร เพื่อในหลวง”
"สมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์" ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เคยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงเบื้องหลังการริเริ่มโครงการเฉลิมฉลองในหลวง ร 9 ไว้ดังนี้
"คิดถึงความหลังที่ภาคภูมิใจที่ได้เคยมีส่วนริเริ่มโครงการเฉลิมฉลองในหลวง ร 9"
วันที่ 13 ตุลาคมเวียนมา ทำให้คิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างมาก คิดแล้วก็อดไม่ได้ ที่จะคิดถึงความหลังที่ได้เคยริเริ่มเสนอให้รัฐบาลทำกิจกรรมพิเศษเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน
ในปี 2542 ช่วงที่กำลังจะมีการเฉลิมฉลองในวโรกาสพระชนมายุครบ 72 พรรษา ภาครัฐและเอกชน เริ่มมีโครงการเฉลิมฉลองมากมาย แต่ไม่ค่อยปรากฎเป็นข่าวไม่เป็นที่รับรู้มากนัก สื่อเริ่มวิจารณ์ว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญในวโรกาสพิเศษมากกว่านี้
จำได้ว่าเมื่อตัวเราได้ฟังข่าวนี้แล้วก็เกรงว่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ
จึงได้เสนอโฆษกรัฐบาล "อรรคพล สรสุชาติ" ว่ารัฐบาลน่าจะทำกิจกรรมพิเศษที่เป็นความริเริ่มของรัฐบาล แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งชาติที่มีต่อพระองค์ท่าน ซึ่งนับว่าโชคดีที่ความเห็นนี้โฆษกฯเห็นชอบด้วย
จึงได้เสนอนายกฯ"ชวน หลีกภัย" ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำโครงการพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีโฆษกฯเป็นประธาน และเชิญให้หน่วยงานต่างๆมาร่วม เพื่อระดมความคิดเห็น
ในที่สุดเห็นร่วมกันว่า น่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้มีส่วนร่วมถวายความจงรักภักดีและเทิดทูนพระองค์ท่านด้วยการเขียนไปรษณียบัตร “ชีวิตนี้เราจะทำอะไร เพื่อในหลวง” แสดงความตั้งใจของแต่ละคนว่า จะทำอะไรเพื่อปฏิบัติถวายพระองค์ท่าน จากนั้นได้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆจัดพิมพ์ไปรษณียบัตร 9 ล้านแผ่น เชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นส่งมาในรูปของจดหมายหรือไปรษณียบัตรแสดงความคิดเห็นสั้นๆ ส่งมาที่ทำเนียบรัฐบาล
ในครั้งนั้นได้ประสานกับบริษัทการบินไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารกรุงไทย แม้จะเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด แต่ทุกภาคส่วนก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมทั้งสื่อมวลชนที่ช่วยเผยแพร่ข่าวอย่างกว้างขวาง
นับว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีไปรษณียบัตรหลั่งไหลมาจากทั่วทุกภาคมาที่ทำเนียบรัฐบาล แสดงความตั้งใจที่กระทำสิ่งที่ดีถวายในหลวง และยังได้เชิญสถาบันราชภัฏสวนดุสิตมาช่วยจัดทำสถิติ รวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ จำได้ว่าประชาชนหลายคนบอกไม่อยากส่งไปรษณียบัตรมาเลย อยากเก็บไว้เองเป็นที่ระลึกมากกว่า
ข้อคิดเห็นดีๆที่ประชาชนตั้งใจจะทำเพื่อถวายในหลวงก็คือ ตั้งใจจะอดบุหรี่ ไม่เสพยาเสพติด บริจาคเลือด ขยันตั้งใจเรียนหนังสือ จำนวนมากที่บอกว่า “ เราจะปลูกต้นไม้เพื่อในหลวง “
จำได้ว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงที่นายกฯชวน ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้อย่างมาก โดยท่านได้เคยกำหนดเป็นนโยบายไว้ตั้งแต่ปี 2537 ว่า รัฐบาลจะปลูกต้นไม้จำนวน 5 ล้านไร่ เพื่อถวายในหลวง ดังนั้นไม่ว่าท่านเดินทางไปปฏิบัติภาระกิจในจังหวัดใดก็ตามท่านก็จะต้องปลูกต้นไม้ให้กับสถานที่ต่างๆ
โครงการนี้ทำให้เกิดความภาคภูมิใจอย่างมากเพราะ นอกจากรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายแล้ว กิจกรรมยังประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง คิดถึงความหลังในสิ่งดีๆที่ได้เคยกระทำแล้ว ก็ทำให้มีความสุขเหมือนกัน
ภายหลังเกษียณอายุราชการ คุณสมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์ ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานกับรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ผ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค เรื่อง "รัฐบาลหอยถึงรัฐบาลปู 37 ปี...ไดอารี่การเมือง
หนังสือเรื่องดังกล่าว เป็นการพาผู้อ่านก้าวเดินไปบนเส้นทางของข้าราชการคนหนึ่งในทำเนียบรัฐบาล จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่เลื่อนขั้นมาตามลำดับจนถึงรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีของประทศไทยถึง 15 ท่าน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมาก