ข่าว

"เกษตรสมัยใหม่" ทำอย่างไรเกษตรกร จึงได้ประโยชน์

"เกษตรสมัยใหม่" ทำอย่างไรเกษตรกร จึงได้ประโยชน์

17 ต.ค. 2564

ส.มก.ผนึกเครือข่ายองค์กรสื่อเกษตรจัดเสวนา(ออนไลน์) หัวข้อ "เกษตรสมัยใหม่" ทำอย่างไรเกษตรกร จึงได้ประโยชน์ หวังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นครัวอาหารของเอเชียและโลก

ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์(ส.มก.)ในฐานะประธานโครงการจัดงานฯกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้”ทางสถานีวิทยุม.ก. โดยระบุว่าจากการที่พลเมืองโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการด้านอาหารก็มีมากขึ้นเป็นเงาความตัว

 

สิ่งสำคัญที่สุดทรัพยากรที่ผลิตอาหารให้มวลมนุษย์โลกกว่าแปดพันล้านคนเริ่มมีไม่เพียงพอ ฉะนั้นการทำการเกษตร จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสิ่งที่ตามมานอกจากจะผลิตอาหารให้มากขึ้นแล้วจะต้องมีราคาถูกและมีคุณภาพดีด้วย

 

ที่สำคัญที่สุดจะทำอย่างไรเกษตรกรผู้ผลิต จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำ"เกษตรสมัยใหม่"ด้วย ตอนนี้ผู้บริโภคเขาใส่ใจเรื่องสุขภาพมาก การผลิตทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน มีคุณภาพ ผลผลิตจากเคยทำให้มากอย่างเดียวไม่พอจะต้องมีคุณภาพด้วย มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยแล้วราคาก็ไม่แพงด้วย

 

ดร.พิพัฒน์ ยังกล่าวถึงเกษตรสมัยใหม่ว่า โดยภาพรวมจะมีอยู่ 2 มิติประกอบด้วยเกษตรแนวตั้งและเกษตรแนวราบ โดยแนวตั้งนั้นจะเน้นการทำเกษตรในระดับครอบครัวผลผลิตใช้สอยในครัวเรือนเป็นหลัก   ส่วนเกษตรแนวราบจะเน้นแปลงใหญ่ใช้พื้นที่มากใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยดำเนินการ เพราะฉะนั้นในมิตินี้เราจะมุ่งไปที่ "เกษตรสมัยใหม่"แบบแนวราบเป็นหลัก

 

\"เกษตรสมัยใหม่\" ทำอย่างไรเกษตรกร จึงได้ประโยชน์

 ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์(ส.มก.)

ถ้าพืชไร่ อย่าง อ้อย ข้าว ข้าวโพด จะพูดถึงการใช้เครื่องจักรกลที่มาทดแทนแรงงานใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น พูดถึงการลดต้นทุนการผลิตต่อไร่จะต้องทำอย่างไรบ้างถ้าเป็นพืชสวนเช่นทุเรียนก็จะพูดถึงระบบการให้น้ำ แต่เกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างไรจากสื่งเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรนั้นปลูกพืชอะไร โดยเฉพาะเกษตรกรในระดับฐานรากที่มีอยู่กว่า 60-70% ของประเทศจะต้องได้รับรู้และเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย อุปนายกฝ่ายวิชาการ ส.มก.กล่าว

\"เกษตรสมัยใหม่\" ทำอย่างไรเกษตรกร จึงได้ประโยชน์

และย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ ส.มก.จึงได้ผนึกเครือข่ายองค์การสื่อด้านการเกษตร  ซึ่งประกอบด้วยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) สถานีวิทยุม.ก.และสมาคมนิสิตเก่าคณะเกษตร ม.ก.จัดเสวนา(ออนไลน์)ขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้หัวข้อ ”เกษตรสมัยใหม่" ทำอย่างไรเกษตรกรจึงได้ประโยชน์ หวังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นครัวอาหารของเอเชียและของโลก  

 

ดร.อภิวัฒน์ จ่าตา นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) เสริมว่า เกษตรสมัยใหม่จะต้องเข้าใจเกษตรฐานราก บางครั้งสื่อเข้าไปไม่ถึง ฐานะสื่อมวลชนจะเข้าไปเพื่อตอบโจทย์ว่าเราเป็นผู้ส่งสารให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร อย่างที่บ้านเลี้ยงปูนา มีผักบุ้งนา เริ่มจากการทำสตอรรี่อย่างไรให้น่าสนใจ ทำให้เกิดนวัตกรรม ความเป็นสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 

 

ชาวนาอยู่กับสวนกับนาอยู่แล้ว วิถีของเขาคือแบบนี้เราจะสื่อสารอย่างไรให้เขาเห็นว่าจะทำให้เกิดความยั่งยืน ทุกวันนี้ที่บ้านผมทำเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงปูนา ผักบุ้งนา สำคัญที่สุดปูอินทรีย์หนีสารพิษมารวมกันอยู่ที่นี่หมด การพูดถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเขา แต่จะทำอย่างไรขอให้เขากินอิ่มนอนหลับ มีปัจจัย 4 ครบก่อนแล้วจึงค่อยก้าวไปสู่จุดนั้น

 

 

นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯกล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าเกษตรกรฐานรากยังมีปัญหาเรื่องความพร้อม ยังอดมื้อกินมื้อ มีหนี้สินรุงรังก็ไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นการขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่จะต้องเริ่มต้นจากเกษตรกรฐานรากเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

วันนี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดสตอรี่และมีโอกาสออกสื่อได้ครอบคลุม ซึ่งทุกวันนี้การใช้สื่อออนไลน์ทุกคนทำเองได้ ไลน์สดขายของได้ อย่างวันนี้แค่ผมโพสพ่อแม่พันธุ์ปูนาสองตัวราคาอยู่ที่ตัวละ50บาทก็ขายได้แล้ว วันนี้เราต้องทำแบบนี้แล้วเพื่อทำให้เกิดรายได้จากของดีที่เรามีอยู่ครับ นายก สกท.กล่าวและว่า 

 

จากปูนาสดก็ต่อยอดไปสู่การนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วย อย่างเช่นทำปูนาอบกรอบ  ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด มีคิวอาร์โค้ต สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แล้วก็สร้างสตอรี่ขึ้นมาให้น่าสนใจ ถ้าเกษตรฐานรากทำแบบนี้ได้ มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งก็จะสามารถการขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างราบรื่น   

 

ด้าน ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือสถานีวิทยุม.ก. กล่าวว่า ปัญหาหลักอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนของภาคการเกษตรไทยมาจากการสื่อสารระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะเกษตรกรฐานราก สถานีวิทยุม.ก.เองก็พยายามมาปิดช่องโหว่ตรงจุดนี้ ผ่านช่องทางในทุกแฟลตฟอร์มของสถานีเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่หลากหลายอย่างทันท่วงทีในทุกสถานการณ์