"ตร.ไซเบอร์" แฉ 3 วิธี "ดูดเงินบัญชี" พบเหยื่อ 4 หมื่นราย สูญเงินกว่า10 ล้าน
"ตร.ไซเบอร์" แฉ 3 วิธี คนร้ายใช้ "ดูดเงินบัญชี" ในธนาคาร เบื้องต้นพบผู้เสียหายประมาณ 4 หมื่นราย สูญเงินรวมกว่า 10 ล้านบาท
18 ต.ค.2564 ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตอท. พ.ต.อ.คมกฤช สุขไทยรอง ผบก.สอท.1 ร่วมกันแถลง กรณีผู้เสียหายถูกหักเงินออกจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต จำนวนหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ
พล.ต.ท.กรไชย ระบุว่ากรณีดังกล่าวสันนิษฐานว่าเกิดจาก 3 กรณีคือ
1. การที่คนร้ายได้ข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และเลข 3 ตัว ด้านหลังบัตร จึงสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ที่มีมูลค่าเล็กน้อยได้ โดยไม่ต้องนำรหัส OTP มากรอกยืนยันการทำธุรกรรม
2. การหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตร ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จากการ Phishing มาใน SMS, E-mail,
3. มาจากการเข้าเว็บไซต์ที่คนร้ายปลอมขึ้น ต่างๆ เช่น กรณีหลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทยปลอม
จากการหารือร่วมกับ สภาธนาคารไทย พบว่ามีผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวแล้ว ประมาณ 4 หมื่นคน มีมูลค่าความเสียหาย รวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายที่สูยเงินยอดสูงสุดถึง 2 แสนบาท โดยเงินในบัญชีจะถูกถอนออกในแต่ละครั้งจำนวนไม่มาก แต่หลายครั้ง และหากเจ้าของบัญชี ผูกกับบัตรเดบิตมักจะไม่ส่ง SMS แจ้งเตือน โดยยอดที่ถูกหักไปนั้น เกิดกจากการซื้อไอเทมในเกม หรือ เป็นเงินค่าซื้อโฆษณาออนไลน์
ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์ แนะว่าประชาชนให้ระมัดระวังหลีกเลี่ยงการผูกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตไว้กับแอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและหลังบัตร หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่แนบมาทางอีเมล ข้อความ SMSหรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์นั้นด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัสหลังบัตร หรือจดจำรหัสนั้นเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน ป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์