ข่าว

นักวิจัยจับ "ปลาพระอาทิตย์" กว้างกว่า 3 ม. ใช้เครนยกมาศึกษาก่อนปล่อย (คลิป)

นักวิจัยจับ "ปลาพระอาทิตย์" กว้างกว่า 3 ม. ใช้เครนยกมาศึกษาก่อนปล่อย (คลิป)

19 ต.ค. 2564

คลิปหาดูยาก “ปลาพระอาทิตย์” ตัวเป็น ๆ กว้างกว่า 3 เมตร ติดอวนประมงนอกฝั่งสเปน นักวิจัยใช้เครน 2 ตัวยกขึ้นมาศึกษาก่อนปล่อยกลับบ้าน  

 

 

นักวิจัยจากสถานีชีววิทยาทางทะเลเอสเตรโช มหาวิทยาลัยเซบีญา ประเทศสเปน มีโอกาสที่หาได้ยากในการเก็บตัวอย่างเพื่อศึกษา ปลาพระอาทิตย์ หรือ ปลาโมลา  ( Mola ) ขนาดมหึมา ที่ว่ายมาติดอวนประมงนอกฝั่งเมืองกวยตา ดินแดนสเปนนอกชายฝั่งทางเหนือของแอฟริกา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.  เป็นที่มาของคลิปแสดงให้เห็นการใช้เครนถึง 2 ตัวจากเรือสองลำ เพื่อยกปลาขนาดมหึมาขึ้นมาให้นักวิจัยได้วัดขนาด ประเมินน้ำหนัก และเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอก่อนปล่อยลงทะเล  ซึ่งเป็นภารกิจที่เครียดไม่น้อยกับความใหญ่โตของขนาด และความพยายามป้องกันอุบัติเหตุ 

 

นักวิจัยจับ \"ปลาพระอาทิตย์\" กว้างกว่า 3 ม. ใช้เครนยกมาศึกษาก่อนปล่อย (คลิป)

 

ปลาพระอาทิตย์ มีรูปร่างแบนเหมือนจาน  หัวขนาดใหญ่มากจนดูเหมือนเป็นทั้งตัวของมัน ส่วนหางเล็ก  สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นปลากระดูกแข็งหนักที่สุดในโลก  จุดที่พบอยู่ห่างราว 500 เมตรจากชายฝั่งเมืองกวยตา  แหล่งธรรมชาติที่สามารถพบเห็นสัตว์ทะเลนานาพันธุ์  ทั้งเต่าหัวค้อน เต่าทะเล วาฬหรือโลมา ตามกระแสน้ำที่ไหลมาจากช่องแคบ ตาข่ายดักปลาแห่งนี้ จับปลาพระอาทิตย์ได้เป็นประจำ  ปีที่แล้ว เคยพบถึง 572 ตัวในวันเดียว แต่ไม่เคยเจอตัวใหญ่แบบนี้มาก่อน 

 

 

 

ปลาตัวนี้วัดความยาวได้ 2.9 เมตร  ความกว้างหรือระยะจากครีบทั้งสองข้าง 3.2 เมตร ส่วนน้ำหนัก มากเกินกว่าจะใช้เครื่องชั่งที่รับน้ำหนักได้เต็มที่ 1 พันกก.  แต่ประเมินจากความอ้วนท้วนและเทียบกับปลาตัวอื่น  คาดว่าปลาตัวนี้น้ำหนักน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ตัน  เอนริเก ออสตาเล ผู้ประสานงานสถานีชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเซบีญา กล่าวว่า ปลาพระอาทิตย์ที่เคยจับได้ในญี่ปุ่น วัดขนาดได้ 2.7 เมตร หนัก 2.3 ตัน 

 

 

 

ปัจจุบัน นักวิจัยจากห้องแลบชีววิทยาทางทะเลของสหรัฐ ( US Marine Biology Laboratory ) นำโดย ศาสตราจารย์ โฆเซ่ คาร์ลอส การ์เซีย โกเมซ กับทีมงานจากสวิตเซอร์แลนด์ กำลังร่วมกันศึกษาประชากรปลาพระอาทิตย์ในน่านน้ำกวยตา เพื่อแยกความแตกต่างทางโครงสร้างและพันธุกรรมระหว่างปลาโมลาสองชนิดพันธุ์ ได้แก่ โมลา โมลา กับ โมลา อเล็กซานดรินี  ( Mola alexandrine หรือ southern sunfish ) แต่ตัวใหญ่ที่พบล่าสุดนี้เชื่อว่า เป็น โมลา อเล็กซานดรินี  ที่พบได้ยากกว่า ทั้งสองชนิดพันธุ์เป็นปลาไม่ดุร้าย กินพวกแมงกะพรุนเป็นอาหารส่วนใหญ่ 

 

กวยตา เป็นหนึ่งในดินแดนสเปน 9 แห่งในทวีปแอฟริกา ติดชายแดนโมร็อกโก เลียบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับแอตแลนติก