ข่าว

วิษณุ แจงปมสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" สะดุด ที่แท้ถูก คมนาคม ทักท้วง

วิษณุ แจงปมสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" สะดุด ที่แท้ถูก คมนาคม ทักท้วง

19 ต.ค. 2564

รองนายกฯวิษณุ เครืองาม แจงปมสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"สะดุด เหตุมหาดไทยถอนจาก ครม. หลังพบข้อทักท้วงกระทรวงคมนาคม 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ครม.ไม่พิจารณาต่ออายุสัมปทานโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ว่า มีรายละเอียดไม่เรียบร้อยเล็กน้อยแต่ไม่ยุ่งยากอะไรเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคม ทักท้วงมาแล้วกระทรวงมหาดไทยเพิ่งเห็นเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องตอบตรงนี้ก่อน แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อทักท้วง
 

ส่วนวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.แล้วดึงออกมาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่การดึงออกเพียงแต่เมื่อถึงวาระดังกล่าว พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย ได้ขอถอนออกไปเพื่อทำความเห็นเข้ามาใหม่ ส่วนจะเข้า ครม.อีกครั้งในครั้งหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

 

ก่อนหน้านี้มี 4 ประเด็นที่กระทรวงการคมนาคมทักท้วง กทม. ในการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี


1.  การดำเนินการไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ
 กระทรวงคมนาคม เสนอว่าในขั้นตอนเจรจา ควรดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ก่อน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ และความเป็นธรรมกับประชาชนเป็นสำคัญ

 

 2. อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป  

กระทรวงการคมนาคมเห็นว่า อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการ) ซึ่งถ้าเดินทางไป-กลับ ประชาชนต้องเสียค่าโดยสาร 130 บาท คิดเป็น 35 % ของค่าแรงขั้นต่ำ

 

โดยได้เทียบเคียงว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารประมาณ 3 แสนคนต่อวัน อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาท ยังสามารถดำเนินกิจการได้

 

แล้วทำไม"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 21 ปี ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสาร 8 แสน - 1 ล้านคนต่อวัน (ก่อนวิกฤติการโควิด-19) จะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท ไม่ได้  

 


 

3. การขยายสัมปทาน อาจทำให้รัฐไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด  

ตามสัญญาสัมปทานเดิมนั้น หลังจากครบกำหนดในปี 2572 ทรัพย์สินรวมระยะโครงข่ายเส้นทางทั้งหมด 68.25 กม. จะตกเป็นของรัฐ และหากให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม คำนวณแล้วก็เป็นสัดส่วนน้อยกว่าการลงทุนโครงการใหม่

ดังนั้น การขยายสัมปทานกับไม่ขยายสัมปทาน ทางคณะกรรมการต้องมีพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า แนวทางใดที่รัฐจะได้ผลประโยชน์สูงสุดมากกว่ากัน

 

4. ควรรอผลการตัดสินจาก ป.ป.ช. ก่อน เพื่อไม่เกิดผลกระทบย้อนหลัง
จากการที่ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 กระทรวงคมนาคมเห็นว่า ควรรอผลการไต่สวนก่อน เพราะหากมีการต่อสัมปทาน โดยที่กระบวนการไต่สวนยังไม่สิ้นสุด อาจเกิดผลกระทบย้อนหลังได้