ข่าว

ดีเดย์ 15 ธ.ค. ปรับ "ขึ้นค่าทางด่วน" ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ รถ 4 ล้อจ่าย 65 บาท

ดีเดย์ 15 ธ.ค. ปรับ "ขึ้นค่าทางด่วน" ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ รถ 4 ล้อจ่าย 65 บาท

20 ต.ค. 2564

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกาศปรับ "ขึ้นค่าทางด่วน" ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ดีเดย์ 15 ธ.ค. รถยนต์ 4 ล้อ จ่ายคันละ 65 บาท

(20 ต.ค.2564) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ซึ่งมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด กทพ. เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบเรื่องการเตรียมปรับค่าผ่านทางพิเศษ(ด่วน) สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (จตุจักร-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร (กม.) เพิ่มขึ้นอีก 15 บาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นไปตามสัญญาสัมปทานกับเอกชนคู่สัญญา ที่ต้องมีการปรับขึ้นทุก 5 ปี ทำให้อัตราค่าผ่านทางด่วน สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เมื่อปรับขึ้นแล้ว เป็นดังนี้

 

  • รถยนต์ 4 ล้อ เดิม 50 บาท  ปรับเป็น 65 บาท
  • รถ 6-10 ล้อ เดิม 80 บาท  ปรับเป็น 105 บาท
  • รถมากกว่า 10 ล้อ เดิม 115 บาท ปรับเป็น 150 บาท
     

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ กทพ. มีข้อห่วงใยประชาชน จากการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว ขณะที่ยังได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด-19 จึงได้ให้ฝ่ายบริหารจัดการหารือกับ BEM ซึ่งเป็นคู่สัญญา ที่อาจชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง หรือออกแคมเปญพิเศษ เพื่อลดความเดือดร้อน ซึ่งก่อนหน้านี้มีตัวอย่าง อาทิ โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ที่ปรับเพิ่มค่าผ่านทาง 10 บาท แต่ได้จัดแคมเปญ ลดราคาจำหน่ายคูปองให้ผู้ใช้บริการ โดยสัปดาห์หน้า กทพ.จะหารือกับ BEM อีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนรับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน กทพ.ก็จะดูแล และเยียวยาให้บริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 มีปริมาณรถใช้ทางด่วนเส้นนี้ 5 หมื่นคันต่อวัน ขณะที่ตามสัญญาประเมินไว้ว่า จะมีปริมาณรถ 8 หมื่นคันต่อวัน โดย BEM ระบุว่า รายได้ค่าผ่านทางหายไป 50%
 

ทั้งนี้ ผู้ว่า กทพ. กล่าวว่า ต้องให้ได้ข้อสรุปมาตรการอย่างช้าต้นเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอขอความเห็นชอบปรับขึ้นค่าผ่านทางฯ จากบอร์ด กทพ. อีกครั้ง ในการประชุมกลางเดือน พ.ย.2564  ส่วนจะขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลเจรจากัน และยอมรับว่า หนักใจ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามสัญญา และทางเอกชนเองก็ได้รับความเดือดร้อน แต่จะพยายามเจรจาหาทางออกที่ดีที่สุด