ข่าว

รมช.มหาดไทย ย้ำ “อปท.” เป็นเจ้าภาพ ลดการเสียชีวิตบนท้องถนน

รมช.มหาดไทย ย้ำ “อปท.” เป็นเจ้าภาพ ลดการเสียชีวิตบนท้องถนน

20 ต.ค. 2564

"นิพนธ์" ล่องใต้ รุดหารือแผนป้องกันอุทกภัย จ.พัทลุง ย้ำทุกฝ่ายต้องมีแผนเผชิญเหตุ ทั้งระบบเตือนภัย พร้อมช่วยชาวบ้าน ยึดหลัก”สร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล” ย้ำ ให้ "อปท." เป็นเจ้าภาพลดยอดการเสียชีวิต สร้างตำบลต้องขับขี่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) เป็นประธานมอบนโยบายเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงความปลอดภัยทางถนนจังหวัดพัทลุง มีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

 

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแผนป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุมในภาคใต้ ควมถึงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

โดยเฉพาะการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ กำจัดขยะ และสวะสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลยึดหลักสร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล เพื่อรองรับน้ำและระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ

รวมถึงแผนป้องกันพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ศาสนสถาน โดยต้องตรวจสอบความพร้อมของวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลช่วยด้านสาธารณภัย เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือแจ้งเตือนภัย ให้พร้อมใชงานตลอดเวลา ที่สำคัญต้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เส้นทางการอพยพ และศูนย์พักพิงชั่วคราว

 

โดยต้องซักซ้อมเจ้าหน้าที่และประชาชนถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างการรับรู้ไม่ให้สับสนหากเกิดอุทกภัย ต้องเตือนให้ประชาชนรู้ข่าวในทุกช่องทาง เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน

 

"ขอย้ำว่า ให้เจ้าหน้าที่อำเภอและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องพร้อมป้องกัน ช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชนทันสถานการณ์ทันทีที่สำคัญคือต้องช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยในชีวิต เป็นสำคัญ"รมช.มหาดไทย กล่าว

“ส่วนการลดอุบัติเหตุทางถนนตามแผนความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.จังหวัด)เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของจังหวัดและเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด ที่อำเภอและส่วนท้องถิ่นต้องร่วมมือป้องกันและแก้ไขโดยลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้ได้ 

 

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. เป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่รับผิดชอบ และเร่งปรับปรุงอก้ไขจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่การขอความร่วมมือจากประชาชน 

 

และทุกภาคส่วนให้ร่วมขับเคลื่อนในการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นโดยยึดหลัก “สร้างตำบลต้องขับขี่ปลอดภัย” ทําให้ทุกตำบลในประเทศไทยปลอดภัย ประชาชนก็จะสามารถขับขี่ปลอดภัยสามารถลดความสูญเสียชีวิตเท่ากับเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลและทรัพย์สินอื่นๆได้” นายนิพนธ์ กล่าว