ข่าว

ลงทะเบียน "เยียวยา SMEs" วันแรก ยอดทะลุกว่า 5,000 ราย รับสิทธิถึง 20 พ.ย.

ลงทะเบียน "เยียวยา SMEs" วันแรก ยอดทะลุกว่า 5,000 ราย รับสิทธิถึง 20 พ.ย.

21 ต.ค. 2564

สถานประกอบการแห่ลงทะเบียน "เยียวยา SMEs" หัวละ 3,000 วันแรก ยอดทะลุกว่า 5,000 ราย ลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิกว่า 1 แสนราย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เป็นวันแรกที่เปิดให้นายจ้าง สถานประกอบการลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ผ่านทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึง 20 พฤศจิกายน 2564 ภาพรวมวันแรกมีผลตอบรับที่ดีมาก ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 17.00 น. พบว่า มีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 5,091 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 123,847 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 2,231 ราย

 

จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 53,548 คน ปริมณฑล 1,101 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 29,218 คน ภาคกลาง 687 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 18,247 คน ภาคใต้ 454 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ์ 8,799 คน ภาคเหนือ 365 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 6,975 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 253 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ 7,060 คน

 

ลงทะเบียน \"เยียวยา SMEs\" วันแรก ยอดทะลุกว่า 5,000 ราย รับสิทธิถึง 20 พ.ย.

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานประกอบการจำนวนหนึ่งประสบปัญหาจนต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางแห่งมีการลดการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีจำนวนมากที่พยายามพยุงกิจการไปพร้อมกับรักษาระดับการจ้างงานไว้อย่างสุดกำลัง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายรักษาระดับการจ้างงานและส่งเสริมการจ้างงานใหม่ โดยอุดหนุนค่าจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 -มกราคม 2565 เพื่อให้สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลางเกิดสภาพคล่อง สามารถฟื้นฟูกิจการสร้างความแข็งแรงในธุรกิจ พร้อมรับการเปิดประเทศที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้  ทั้งยังเป็นการตอบแทนธุรกิจในกลุ่ม SMEs ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศไทย

 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชน ที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2564 โดยที่นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่าง
เข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

 

และกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5  ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ โดยหลักเกณฑ์สำคัญอีกประการที่นายจ้างสถานประกอบการจะได้รับการอนุมัติร่วมโครงการ คือนายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมผ่านช่องทาง e-service (e-payment) ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการฯ

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694