"ชาไทย" ยอดส่งออกเติบโตกว่า 500 ลบ. สนค.แนะใช้ FTA เบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
ข่าวดี! ผู้ประกอบการ "ชาไทย" เตรียมเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ รองรับตลาดชาไทยส่งออก โตกว่า500ล้านบาท สนค. แนะ เร่งผลักดันมาตรฐานแบรนด์ไทย และใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
"ชาไทย" สินค้าดาวรุ่ง ยอดส่งออก 7 เดือนมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท โตกว่า 119% สนค. แนะ เร่งผลักดันมาตรฐานแบรนด์ไทย และใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย “ชาไทย” สินค้าดาวรุ่งส่งออก ยอด 7 เดือน โตกระฉูด มูลค่า 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% แนะเร่งผลักดันมาตรฐาน เพิ่มการแปรรูป ช่วยเพิ่มช่องทางตลาด และปั้นแบรนด์ไทยให้แข็งแกร่ง ชี้ควรใช้ FTA เป็นใบเบิกทาง เจาะจีน อาเซียน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์
การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์สินค้า
“ชาไทย” เพื่อประเมินโอกาสในการขยายตลาด ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยพบว่า ชาไทยเป็นสินค้าดาวรุ่งที่มีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564
(ม.ค. - ก.ค.) มีปริมาณสูงถึง 2,192.44 ตัน เพิ่มขึ้น 99.88% และมีมูลค่า 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% (สินค้าประเภทชาเขียวและชาดำบรรจุหีบห่อ)
“จากแนวโน้มการส่งออกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ชาไทยยังมีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยผลักดันให้มีมาตรฐานรับรอง ทั้งมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานต่างประเทศ เช่น การผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม (GAP) มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (GMP) สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) รวมถึงการรับรองสินค้าอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับชาไทย”
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องเร่งให้ความรู้แก่เกษตรกรทั้งในด้านการเพาะปลูกชาที่ตลาดต้องการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย ช่วยผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรแปลงใหญ่ และต้องช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะช่องทางตลาดออนไลน์ที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ควรจะช่วยประชาสัมพันธ์ชาไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภค เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนจากการบริโภคเครื่องดื่มตามกระแส มาเป็นเลือกบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งชาไทย เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ส่วนการส่งออก ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการส่งออกชา
และผลิตภัณฑ์ชาไทย เพราะชาไทยเป็นที่นิยมและยอมรับ
ในหมู่ผู้บริโภค โดยมีตลาดสำคัญ เช่น ไต้หวัน จีน และอาเซียน ซึ่งในส่วนของจีนและอาเซียน สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ปัจจุบันมีการลดภาษีนำเข้าให้กับชาไทยแล้ว ทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ปัจจุบัน แหล่งปลูกชาที่สำคัญของไทยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และน่าน
ชาสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี โดยในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. เป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด
ไทยมีพื้นที่ปลูกชาในปี 2563 จำนวน 149,656.95 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ชาอัสสัม และพันธุ์ชาจีน คิดเป็นร้อยละ 87 และ 13 ตามลำดับ