ชาวพุทธแห่ทำบุญ "วัดใหญ่ชัยมงคล" ตักบาตรเทโวโรหณะ
ชาวพุทธแห่ทำบุญ "ตักบาตรเทโว" หลังออกพรรษาที่ "วัดใหญ่ชัยมงคล" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนต้น
ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกิจกรรมใดก็หยุดชะงักหรือซบเซา แต่หลังจากที่มีประชาชนได้รับวัคซีนกันมากขึ้นทำให้ช่วงนี้ หลายคนก็ยิ้มได้ แม้ว่ายังต้องเข้มงวด เรื่องมาตรการดูแลตนเองอยู่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้บรรยากาศออกพรรษาปีนี้ ได้เห็นภาพพุทธศาสนิกชนออกมาทำบุญกันมากขึ้น เช่นที่ วัดใหญ่ชัยมงคล วัดเก่าแก่ และมีชื่อเสียงติดอันดับของ จ.พระนครศรีอยุธยา
ตลอดช่วงเช้าของวันที่ 22 ต.ค.2564 มีพุทธศาสนิกชน มาร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ หลังวันออกพรรษาที่วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยากันคึกคัก พุทธศาสนิกชนใส่บาตร ด้วยข้าวต้มมัด ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียน ตลอดเส้นทางผู้ที่มาร่วมทำบุญตักบาตร สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ตามแบบฉบับการทำบุญวิถีใหม่ (New Normal) แต่ก็สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงานตามวิถีพุทธ
พระครูสิริชัยมงคล รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล นำพระภิกษุสงฆ์สามเณร เดินลงจากพระมหาเจดีย์ชัยมงคล โดยมีประชาชนรอใส่บาตรจำนวนมาก
พระครูสิริชัยมงคล กล่าวว่า การทำลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อจำลองเหตุการณ์ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาว่า หลังวันออกพรรษา ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รับบิณฑบาต หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา และ คำว่าเทโว มาจากคำว่า เทโวโรหณะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลกนั่นเอง
"วัดใหญ่ชัยมงคล" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1900 ในสมัยอยุธยาตอนต้น ยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามว่า วัดป่าแก้ว แต่คนส่วนใหญ่จะจดจำวัดใหญ่ชัยมงคล ได้จากเหตุการณ์สำคัญใน พ.ศ. 2135 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงรบชนะ มังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงษาวดี ที่ ต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี และต่อมาได้ให้สร้าง "พระเจดีย์ชัยมงคล" เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งชัยชนะที่วัดแห่งนี้และเชื่อกันว่าเป็นที่มาของชื่อ "วัดใหญ่ชัยมงคล" ในปัจจุบัน
ภาพ/ข่าว เกียรติยศ ศรีสกุล ผอ.ข่าวคมชัดลึกทั่วไทย ภาคกลาง