ข่าว

เปิดวิชั่น "ดร.ณัฐวรพล” ว่าที่ อธิการบดี มทร.พระนคร

เปิดวิชั่น "ดร.ณัฐวรพล” ว่าที่ อธิการบดี มทร.พระนคร

25 ต.ค. 2564

“ดร.ณัฐวรพล” ว่าที่อธิการบดี มทร.พระนคร พร้อมนำสถาบันฯ ก้าวสู่มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ เตรียมขยายพื้นที่ ปรับภูมิทัศน์ จับมือเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมร่วมกันพัฒนาบัณฑิตคุณภาพเรียนจบทำงานได้จริง รองรับกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ยุคอุตสาหกรรม 4.0

"ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล" รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เปิดเผยว่า ในฐานะที่มีโอกาสดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.พระนคร มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีความสมบูรณ์แบบ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว

 

ซึ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายและครอบคลุมทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสาขา กสิกรรมศาสตร์

เปิดวิชั่น \"ดร.ณัฐวรพล” ว่าที่ อธิการบดี มทร.พระนคร

นอกจากนี้ต้องปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพให้เหมาะสมกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ นักศึกษาสามารถมีชีวิตในมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์

 

ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีที่ดินเพิ่มจากการรับบริจาคและซื้อเพิ่มเติมในจังหวัดใกล้เคียง จึงมีแผนขยายพื้นที่ให้เกิดการอยู่ร่วมกันทั้ง 9 คณะได้อย่างสมบูรณ์ มีทั้งหอพักและมีสนามกีฬาในพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยฯ

ดร.ณัฐวรพล  กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการจัดการศึกษาวันนี้ ตนมองว่าแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แล้วมอบปริญญาบัตรให้ เพื่อแสดงว่าสำเร็จการศึกษา 

 

วันนี้การเป็นมหาวิทยาลัยไม่ใช่ทำหน้าที่มอบปริญญาบัตรแลกกับความรู้ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างให้ฝันของผู้ที่เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยเป็นจริง โดยในอนาคตนักศึกษาที่มาจากกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจะลดจำนวนลง 

เรียนจบทำงานได้จริง

ทว่ายังมีประชากรกลุ่มหนึ่งในตลาดแรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือต้องการมีอาชีพเสริมเหล่านี้ เป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะสานฝันของประชากรเหล่านี้ให้เป็นจริง ตัวอย่างเช่น มีพนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ฝันอยากมีร้านกาแฟ การเรียนชงกาแฟหาข้อมูลที่ไหนก็ได้ 

ฉะนั้นสิ่งที่ตนอยากให้เกิดความแตกต่างในการมาเรียนที่ มทร.พระนคร คือ ไม่ได้ให้เฉพาะความรู้ แต่ให้เครือข่าย เครื่องจักร และการบริการอื่น ๆ ซึ่งหาจากที่อื่นไม่ได้ อันจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปจากผู้ที่ให้ความรู้ เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ได้ในโลกความเป็นจริง ดังนั้นสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอนคือ อาจารย์ต้องเคยทำงานอยู่ในโลกอาชีพ อาจารย์ที่สอนตามตำรา คงไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ในอนาคต

 

ดร.ณัฐวรพล กล่าวว่า คำว่านักศึกษาในวันนี้ อาจมีทั้งคนทำงาน ผู้อาวุโสที่อยากได้องค์ความรู้เพิ่ม หรืออยากได้ช่องทางประกอบธุรกิจเพิ่ม ดังนั้นผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม หน่วยงาน องค์กร บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนสามารถเป็นนักศึกษาได้หมด 

 

ดังนั้นแนวทางในการจัดการศึกษาของตนคือ ต้องหล่อหลอมให้นักศึกษาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคม ซึ่งส่วนตนนั้นไม่เคยมองว่า นักศึกษาเป็นลูกค้า เพียงเพราะว่านักศึกษาเป็นผู้จ่ายค่าเทอม แต่กลับมองว่าผู้ที่เป็นลูกค้าจริง ๆ คือ ตลาดแรงงาน เพราะสถาบันการศึกษาทำหน้าที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

 

ตลาดแรงงานต้องการบุคลากรแบบไหน เป็นหน้าที่สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตสนองตลาดแรงงาน ดังนั้นนักศึกษาถือเป็นวัตถุดิบ ส่วนหลักสูตร และอาจารย์ผู้สอนเป็นเครื่องมือในกระบวนการผลิตบัณฑิต ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและสังคม

 

การที่จะทำให้วัตถุดิบมีคุณค่า ต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสม การเรียนรู้อย่างเดียว โดยไม่เคยทำงานจริงคงไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ ทำงานเก่งแต่ไม่มีคุณธรรมองค์กรคงไม่อยากได้

 

“ความท้าทายของการพัฒนาบัณฑิตในวันนี้คือ ต้องปรับสมดุลหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นทักษะในทางวิชาชีพ หรือแนวคิดในการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งความสามารถในการทำงานจริง ซึ่งการหล่อหลอมบัณฑิตให้สามารถทำงานได้จริงและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้นั้น สถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกัน 

 

จากเดิมที่สถาบันการศึกษาตกเป็นจำเลยสังคม ซึ่งถูกมองว่า ผลิตอะไรออกมาไม่รู้ ใช้งานไม่ได้ ต้องสอนใหม่ วันนี้หมดเวลามาโทษกันแล้ว ภาคอุตสาหกรรมต้องมาทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ช่วยกันหล่อหลอมบัณฑิตให้ตรงใจตั้งแต่เริ่มแรกกระบวนการจัดการศึกษา การสร้างเครือข่ายกับภาคอุตสาหกรรมจึงมีส่วนสำคัญในพัฒนาการศึกษารองรับกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ในยุคอุตสาหกรรม 4.0”ดร.ณัฐวรพล กล่าวทิ้งท้าย