เหมือนต่อชีวิต เรื่องจริง เงิน "เยียวยาคนขับแท็กซี่" ช่วยลุง 75 หลังรถถูกยึด
กรมการขนส่งทางบก เปิดลงทะเบียน "เยียวยาคนขับแท็กซี่" วันแรก คนขับวัย 75 เปิดใจ ช่วยต่อลมหายใจได้ หลังรถถูกยึดไปแล้ว 1 คัน
หลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 ได้ และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 29 จังหวัด โดยผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ประกอบอาชีพขับรถใน 13 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาทต่อคน และผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ประกอบอาชีพขับรถใน 16 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน โดยเปิดให้จองคิวลงทะเบียนล่วงหน้าไป เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีแท็กซี่/วินมอเตอร์ไซต์ จองคิวผ่านระบบแล้วประมาณ 7,000 คน โดยเปิดให้เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเอง เพื่อยืนยันตัวตน และตรวจสอบเอกสาร วันที่ 25 ต.ค.- 5 พ.ย.2564 ในวัน และเวลาราชการ ณ อาคาร 6 ชั้น 7 กรมการขนส่งทางบก, กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 และกลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" รายงานบรรยากาศ วันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนด้วยตนเอง และลงทะเบียนยืนยันตัวตน รอบเช้ามีกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ทยอยเดินทางเข้ามาลงทะเบียน ทั้งแบบ Walk In และ ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า ประมาณ 800 คน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนขับแท็กซี่มากกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้าง
นาย มารุต ยุติธรรม อายุ 75 ปี ผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะ กล่าวว่า ตนเองมีอาชีพขับรถแท็กซี่รับจ้าง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 แต่เมื่อช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ขาดรายได้ไม่สามารถออกไปขับรถโดยสารได้ จึงถูกไฟแนนซ์ยึดรถ ทั้งที่ผ่อนค่างวดเหลืออีกเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น แต่พอช่วงโควิดเบาบางลง จึงได้นำเงินส่วนหนึ่ง ไปดาวน์รถออกมาใหม่ เพื่อจะนำมาประกอบอาชีพ หาเงินเลี้ยงตัวเองต่อ
"การที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเยียวยาคนขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ถือว่าเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่มา จึงอยากขอบคุณรัฐบาล เพราะเงินเยียวยาก้อนนี้ จะช่วยเป็นค่าผ่อนรถได้"
โดย กรมการขนส่งทางบก ยังเปิดให้ผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่เข้าเงื่อนไข มีรายชื่อในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก แบ่งเป็นผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ประมาณ 12,000 คน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) ประมาณ 3,000 คน สามารถลงทะเบียนจองคิวรับบริการได้ จนถึงวันที่ 5 พ.ย. 2564 ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th เอกสารตามที่กำหนด ได้แก่
- ใบคำขอเพื่อรับสิทธิช่วยเหลือ (รับที่จุดลงทะเบียน)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ
- บัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ
กรณีรถเช่า ต้องมีข้อมูลทะเบียนรถที่เช่าขับ และผู้ให้เช่ารถได้ โดยกรมการขนส่งทางบก จะทำการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้เช่าก่อนรับสิทธิ รถที่ใช้ประกอบอาชีพ ต้องชำระภาษีครบถ้วน
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือ จะจ่ายผ่านบัญชีพร้อมเพย์เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนแบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่
- รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. 2564 สำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล
- รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 2564 สำหรับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ
สำหรับ ผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพขับรถใน 13 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาทต่อคน ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร
- นครปฐม
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- พระนครศรีอยุธยา
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- ยะลา
- สงขลา
ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพขับรถใน 16 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน ประกอบด้วย
- กาญจนบุรี
- ตาก
- นครนายก
- นครราชสีมา
- ประจวบคีรีขันธ์
- ปราจีนบุรี
- เพชรบุรี
- เพชรบูรณ์
- ระยอง
- ราชบุรี
- ลพบุรี
- สิงห์บุรี
- สมุทรสงคราม
- สระบุรี
- สุพรรณบุรี
- อ่างทอง