ข่าว

จนท.มูลนิธิฯ แจงปม"รถชนสาวท้อง" เข้าข่าย "สีแดง" ไม่มีอำนาจเคลื่อนย้าย

จนท.มูลนิธิฯ แจงปม"รถชนสาวท้อง" เข้าข่าย "สีแดง" ไม่มีอำนาจเคลื่อนย้าย

27 ต.ค. 2564

เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู แจงกรณีนำ"สาวท้อง" 6 เดือน ส่งรพ. ยืนยันทำตามหน้าที่ ไม่มีอำนาจย้ายผู้ป่วยสีแดง ขณะ รพ. ยืนยันใช้เวลาไม่นานในการเคลื่อนย้ายคนเจ็บมารพ.

27 ต.ค.2564  นายนวพล พงษ์ทอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่เดินทางไปถึงจุดเกิดอุบัติเหตุ กรณีน.ส.นลิน  สาวท้อง 6 เดือน ถูกรถแท็กซี่ชนลากร่างไปไกล แต่นำส่งตัวรพ.ล่าช้ากว่า 40 นาที จนเกิดข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ที่เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ  ว่า ทีมของตนเป็นอาสาสมัครกู้ชีพฯ ที่เดินทางไปจุดเกิดเหตุเป็นทีมแรก

 

เมื่อไปถึง ผู้เสียชีวิตในตอนนั้นยังมีชีพจรอยู่ จึงทำการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการนำผู้บาดเจ็บในตอนนั้น ขึ้นบนรถเพื่อต่อสายออกซิเจนให้ เพื่อยื้อชีวิตทั้งแม่และเด็กในท้อง แต่ตัวเองเป็นเพียงแค่เจ้าหน้าที่กู้ชีพซึ่งไม่มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นผู้ป่วยสีแดงได้ ตามกฎหมายต้องรอเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินของทางโรงพยาบาลเท่านั้น

 

กระทั่งเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลตากสิน เดินทางมาถึง ตัวเองก็ได้ยินว่า เจ้าหน้าที่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาล ได้ถามขอบัตรประชาชนกับแฟนหนุ่มผู้บาดเจ็บ เพื่อจะได้ตรวจสอบสิทธิ์การรักษา  โดยใช้เวลาพูดคุยสักพัก ตอนนั้นเริ่มเห็นแล้วว่า คนเจ็บเริ่มหน้าซีดอาการไม่ค่อยดีแล้ว จึงพยายามถามเจ้าหน้าที่แพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าวว่า จะนำส่งโรงพยาบาลใด แต่เจ้าหน้าที่แพทย์โรงพยาบาลก็ยังรอเอาบัตรประชาชนก่อน

 

 

จนท.มูลนิธิฯ แจงปม\"รถชนสาวท้อง\" เข้าข่าย \"สีแดง\" ไม่มีอำนาจเคลื่อนย้าย

 

นายนวพล บอกอีกว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า  แพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลดังกล่าวนั้น ทำไมถึงไม่นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะตามหลักการแพทย์แล้ว หากเป็นผู้ป่วยสีแดง เป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรกนั้นสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลฟรีอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่แพทย์ของโรงพยาบาลกลับบอกว่า คนเจ็บยังปกติและไหวอยู่ ซึ่งตัวเองก็ไม่เข้าใจ และขอแก้ข่าวว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูที่นำส่งช้า แต่ตัวเองทำเกินหน้าที่ไม่ได้จริงๆ ตามหลักกฎหมาย

 

ด้าน นายแพทย์ ชัยโชติ นุตกุล เลขานุการคณะกรรมการข้อร้องเรียนโรงพยาบาลตากสิน ชี้แจงว่ารถพยาบาลคันดังกล่าว เป็นหน่วย EMS หรือหน่วยฉุกเฉินได้รับการประสานจากศูนย์เอราวัณ ซึ่งรถของโรงพยาบาลไปถึงที่เกิดเหตุ  

 

ในคืนเกิดเหตุ กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูประสานรถแอดวานซ์ หรือ รถ ALS ตอน เที่ยงคืน 25 นาที ของวันที่ 25 ตุลาคม โดยใช้เวลาเพียง 16 นาที คือ เวลาประมาณ เที่ยงคืน 41 นาที ถึงจุดเกิดเหตุ และใช้เวลาเพียง 1 นาที คือตอน เที่ยงคืน 42 นาที  รถกู้ภัย พาผู้ป่วย และพยาบาลออกรถ ไป รพ.ราชพิพัฒน์ และไปถึงที่ห้องฉุกเฉิน รพ.ราชพิพัฒน์ ตอน 01.02 น. หรืออีก 20 นาทีถัดมา

 

ส่วนประเด็นที่ญาติตั้งข้อสงสัย ว่าทำไมจึงนำส่งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดเกิดเหตุประมาณ 9 กิโลเมตร แต่ไม่นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ อย่างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 3.5 กิโลเมตร นั้น ทางโรงพยาบาลชี้แจงว่า ทางศูนย์เอราวัณจะเป็นผู้ประสาน ซึ่งจะดูจากโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย

 

ขณะที่นางภัสรพร แสงศิลา ผู้ช่วยหัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลตากสิน เปิดเผยว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เพราะทุกส่วนให้ความช่วยเหลือตามระบบทั้งหมด แต่อาจจะมีการสื่อสารที่เกิดความไม่เข้าใจ และขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ส่วนพยาบาลที่อยู่ในรถแอดวานซ์วันที่เกิดเหตุนั้นทราบว่ามีการประสานกับโรงพยาบาลปลายทางระหว่างที่นำตัวผู้บาดเจ็บส่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพยาบาลที่ประจำรถคนดังกล่าวเป็นผู้มีความตั้งใจและมีศักยภาพในการทำงานสูงเมื่อไปถึงพบผู้บาดเจ็บก็ให้รถออกจากที่เกิดเหตุทันที ส่วนเรื่องถามหาบัตรประชาชนนั้นตามขั้นตอนก็เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งระหว่างนั้นรถก็เคลื่อนตัวโดยไม่ได้หยุดอยู่กับที่เกิดเหตุ