ข่าว

ตร.แนะ 5 ข้อ รู้ทัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จะไม่อยากตกเป็นเหยื่อสูญเงินในพริบตา

ตร.แนะ 5 ข้อ รู้ทัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จะไม่อยากตกเป็นเหยื่อสูญเงินในพริบตา

28 ต.ค. 2564

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะ 5 วิธี รู้ทัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ โทรมาหลอกให้ตกใจอาจสูญเงินในพริบตา

 28 ต.ค. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์จากธนาคาร หรือ เป็นข้าราชการระดับสูง หรือ นายตำรวจระดับสูง โทรศัพท์หาผู้เสียหาย อ้างว่า บัญชีธนาคารถูกอายัด หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น พัวพันกับการจำหน่ายยาเสพติด การค้าของผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ฯลฯ

 

จากนั้นจะให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยโอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยข่มขู่ว่าหากไม่โอนเงินมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จะถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ทำให้ผู้เสียหายบางคนตกใจหลงเชื่อและพยายามแสดงความบริสุทธิ์ โดยโอนเงินให้กับคนร้าย จากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ได้ ทำให้ได้รับความเสียหาย 

ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) แถลงผลการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว โดยได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 5 ราย ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความเสียหายมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า  หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้เจ้าของบัญชีธนาคารโอนเงินมาให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นบัญชีธนาคารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจตามกฎหมายทำการตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารหรืออายัดเงินในบัญชีธนาคารดังกล่าว 

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใย จึงขอแจ้งเตือนว่า หากได้รับโทรศัพท์แอบอ้างในลักษณะดังกล่าว ควรปฏิบัติดังนี้

1.ตั้งสติ อย่าตกใจ และอย่าหลงเชื่อ 

2.สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นให้แน่ชัด และสำรวจว่าตนเองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องที่คนร้ายโทรมาหลอกลวงหรือไม่

3.อย่าดำเนินการใด ๆ โดยแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง และรีบวางสายสนทนา

4.ตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารหรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง โดยติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานนั้นๆ 

5. หากมีผู้ใดโทรมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้คิดไว้เสมอว่าอาจจะเป็นพวกมิจฉาชีพ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ อย่างเด็ดขาด

 

หากพบว่า มีบุคคลอ้างว่าเป็นธนาคาร หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ขอให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง