ข่าว

"อัยการ" ร้องศาลส่ง 3 คนไทย "ผู้ร้ายข้ามแดน" แก๊ง  "ค้ามนุษย์" รับโทษมาเลเซีย

"อัยการ" ร้องศาลส่ง 3 คนไทย "ผู้ร้ายข้ามแดน" แก๊ง "ค้ามนุษย์" รับโทษมาเลเซีย

28 ต.ค. 2564

อัยการร้องศาลส่ง 3 คนไทย "ผู้ร้ายข้ามแดน คดี "ค้ามนุษย์" โรฮิงญา เอี่ยวแก๊งพล.ท.มนัส คงแป้น มาเลเซียร้องขอให้ส่งตัวกลับไปรับโทษ

28 ต.ค. 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ  นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  นายสุทธิ สุขยิ่ง อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 1  และนายธีรัช ลิมปยารยะ อัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด  แถลงความคืบหน้าการคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศมาเลเซียคดีค้ามนุษย์โรฮิงญ

 

นายประยุทธ ระบุว่า คดีนี้ประเทศมาเลเซียมีคำร้องขอให้ประเทศไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนในครั้งนี้เป็นขบวนการคดีค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับคดีค้ามนุษย์ข้ามชาติ (เหยื่อค้ามนุษย์เป็นชาวโรฮิงญา) ที่ทางการประเทศไทยได้จับกุมและดำเนินคดี พล.ท.มนัส คงแป้น กับพวกอีกหลายคน ที่ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยเหยื่อถูกฆ่าและนำศพไปฝังหลายศพและยังมีเหยื่อที่รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก 

 

คดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้ฟ้องพล.ท.มนัส กับพวกฐานค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาต่อศาล อาญา และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาจําคุกพล.ท.มนัส จนคดีถึงที่สุดแล้ว
 

\"อัยการ\" ร้องศาลส่ง 3 คนไทย \"ผู้ร้ายข้ามแดน\" แก๊ง  \"ค้ามนุษย์\" รับโทษมาเลเซีย

 

โดยขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะนำเหยื่อค้ามนุษย์ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย และมีการนำเหยื่อชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมากข้ามไปยัง รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งต่อมาทางการมาเลเซียได้ทลายขบวนการค้ามนุษย์ พบเหยื่อค้ามนุษย์ถูกฆ่าและฝังศพไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ที่รอดชีวิตบางส่วนออกมาได้

 

โดยพฤติการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการกระทำต่อเหยื่อค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยได้ทลายขบวนการค้ามนุษย์จนมีการดำเนินคดีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเดือน ส.ค. 2557- มี.ค. 2558 จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนรัฐเปอร์ลิส  พบว่า ผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวเป็นชาวไทยรวมอยู่ด้วยจำนวน 9 คนและได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย

 

สำนักงานอัยการต่างประเทศ จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยมีคำขอต่อศาลอาญาให้ออกหมายจับคนร้ายที่ร่วมกระบวนการค้ามนุษย์ตามที่ทางการมาเลเซียแจ้งมาทั้ง 9 คน เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด ผู้ชาย8 คนหญิง1 คน และต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งหมดดังกล่าวและสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งหมายจับให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการติดตามจับกุม

 

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการจับกุมนายเจ๊ะปา ลาปีอี หนึ่งในผู้ที่ทางการมาเลเซียร้องขอได้และนำส่งตัวให้กับพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศซึ่งได้ยื่นฟ้องนายเจ๊ะปา ลาปีอี ต่อศาลอาญาดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศมาเลเซีย 

 

 

ล่าสุด วันนี้  สำนักงานอัยการต่างประเทศ ได้รับการประสานงานจาก สํานักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า สามารถติดตามบุคคล ที่ทางการมาเลเซียร้องขอ และศาลอาญาได้ออกหมายจับแล้วเพิ่มอีก 2 คนคือ นายอรุณ แก้วฝ่ายนอก และนายบุญเย็น เนสาแหละ โดยจะส่งบุคคลทั้งสองให้กับพนักงานอัยการในยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลอาญาทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่นเดียวกันกับนายเจ๊ะปา ลาปีอี 

 

ด้านนายสุทธิ  สุขยิ่ง อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 1 กล่าวว่า คดีนี้สำนักงานอัยต่างประเทศได้รับการร้องขอจากรัฐบาลมาเลเซียผ่านรัฐบาลให้ดำเนินการส่งผู้ร่วมกระทำผิดซึ่งเป็นคนไทย 9 คน ไปรับโทษที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 มอบหมายให้สำนักงานฝ่ายกิจการต่างประเทศ 1 เป็นผู้รับผิดชอบคดี โดยทางอัยการก็มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆนำสืบต่อศาล

 

ทั้งนี้โดยปกติแล้วเราจะไม่ส่งคนไทยให้ต้องไปรับโทษในต่างประเทศเว้นแต่ว่าจะมีประเทศที่ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันร้องขอมา แต่คดีนี้ถือว่ามีความร้ายแรง เพราะเกี่ยวการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

 

\"อัยการ\" ร้องศาลส่ง 3 คนไทย \"ผู้ร้ายข้ามแดน\" แก๊ง  \"ค้ามนุษย์\" รับโทษมาเลเซีย

 

ขณะที่นายธีรัช  ลิมปยารยะ อัยการ เจ้าของสำนวนคดีนี้ ระบุว่า เบื้องต้น สอบถามผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีว่าจะยินยอมต่อสู้คดีหรือไม่ ซึ่งผู้ต้องหากล่าวพร้อมที่จะต่อสู้คดีและปฏิเสธความผิดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาของศาลต้องใช้เวลาพอสมควร และเมื่อศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้วผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คดีได้ตามกฎหมาย

 

นายประยุทธ  เพิ่มเติมว่า ความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นหนึ่งในอาชญากรรมข้ามชาติที่ทั่วโลกและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการปราบปรามสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างยิ่งและหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุดที่ได้แถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 คือการดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ และเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมรวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความพร้อม และมีทีมพนักงานอัยการที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญพร้อมขับเคลื่อนและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้  พล.ท.มนัส คงแป้น  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลย คนสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 82 ปี ฐานสมคบกันค้ามนุษย์ฯ และจำคุกอีก 40 ปี ฐานร่วมกันฟอกเงินจากการค้ามนุษย์โรฮิงญา ต่อมา  พล.ท.มนัส ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในเรือนจำเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา